วิกฤติโควิดส่งผลกระทบอะไรกับช่างผมบ้าง และสมาคมวิชาชีพช่างทำผมไทย มีบทบาทในการช่วยเหลือ แนะนำช่างผมไทยอย่างไรบ้าง ดร.สมศักดิ์ ชลาชล จะมาเปิดใจในฐานนะนายกสมาคมฯ พร้อมแนะแนวทางการปรับตัวของช่างผมเพื่อให้อยู่รอดในช่วงโควิด
ภาครัฐเริ่มปลดล็อก ผ่อนคลายมาตรการ ให้ร้านทำผมและร้านเสริมสวยกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง แต่ในช่วงที่โควิดยังไม่หมดไป ช่างทำผมควรปรับตัวด้านใดบ้าง มาติดตามข้อเสนอแนะจาก ดร.สมศักดิ์ ชลาชล นายกสมาคมวิชาชีพช่างทำผมไทย และนักเขียนรับเชิญกิตติมศักดิ์ นิตยสาร Hairworld Plus+ ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในวงการผมมากว่า 40 ปี พร้อมทั้งการเปิดใจถึงการทำหน้าที่นายกสมาคมวิชาชีพช่างทำผมไทย ถึงบทบาทและการช่วยเหลือพี่น้องช่างผมในช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้
ผลกระทบและปัญหาที่เกิดขึ้นกับช่างผมในช่วงโควิดมีอะไรบ้าง
ผลกระทบหลักๆ ของช่างผมก็คือ เรื่องค่าครองชีพ เพราะเมื่อต้องปิดร้านรายได้ก็หายไป แต่ยังมีค่าใช้จ่ายในเรื่องการดำรงชีวิต ซึ่งร้านตัดผมในเมืองไทยก็แบ่งเป็นหลายระดับ ผลกระทบก็จะต่างกันออกไป เช่น ร้านระดับเกรด A อาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะมีระบบประกันสังคม พนักงานจะได้รับเงินช่วยเหลือบางส่วนจากรัฐ แต่ที่มีปัญหามากก็จะเป็นร้านระดับเกรด C และ D เช่น ร้านบาร์เบอร์ บางร้านก็ต้องเสียค่าเช่าตามเดิม โดยเจ้าของพื้นที่ไม่ได้ยกเว้นหรือลดราคาให้ ซึ่งในเมืองไทยร้านทำผมขนาดเล็กแบบนี้มีจำนวนมากกว่าร้านใหญ่ๆ ก็เลยทำให้เกิดผลกระทบกันถ้วนหน้า
ในฐานะที่เป็นนายกสมาคม ท่านได้ช่วยเหลือช่างผมอย่างไร ด้วยวิธีอะไรบ้าง
ตอนนี้สมาพันธ์และสมาคมของช่างผมหลายๆ แห่ง ก็ได้ให้ความช่วยเหลือช่างผมกันหลายด้าน ในส่วนของสมาคมวิชาชีพช่างทำผมไทยนั้น เรามุ่งเน้นการทำงานด้านวิชาการและมาตรฐานอาชีพช่างทำผม ดังนั้น สิ่งที่สมาคมฯ ดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือ การพูดคุยกับกรมอนามัย เพื่อพัฒนาและหาแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องสำหรับร้านทำผม เพื่อนำไปใช้ในช่วงเปิดร้านแบบมีมาตรการ โดยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 คณะกรรมการสมาคมฯ ได้ร่วมหารือกับแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ในเรื่องนี้ โดยแนวทางที่ถูกต้องและสำคัญก็คือต้องให้ความสำคัญเรื่องความสะอาด และปลอดภัย ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
มีความเห็นอย่างไรบ้างเกี่ยวกับมาตรการของภาครัฐ
มาตรการที่ออกมาในด้านของสุขอนามัยต่างๆ เป็นเรื่องที่ช่างผม ร้านทำผมต้องทำอยู่แล้วนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย ถุงมือ และเสื้อกาวน์ รวมไปถึงการทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้ปลอดเชื้อ หรือแม้แต่การให้ช่างผมตรวจร่างกาย ตรวจปอดปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันเรื่องวัณโรค ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นมาตรฐานอาชีพที่เราบอกช่างผมกันมาเป็น 30-40 ปีแล้ว แต่ระยะหลังเรื่องนี้อาจจะเริ่มอ่อนลง ไม่ค่อยทำกันอย่างเข้มงวด เมื่อภาครัฐมีมาตรการด้านนี้ออกมาใช้ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นเรื่องที่ช่างผมควรปฏิบัติตามเพื่อเป็นผลดีต่อสุขภาพของตัวเองด้วย
อยากให้รัฐบาลช่วยเรื่องอะไร หรืออยากบอกอะไรแก่รัฐบาล
ปัญหาหลักของช่างผมเรื่องค่าครองชีพ ตอนนี้รัฐบาลก็ได้ช่วยเหลือให้เปิดร้านได้แล้ว ที่เหลือก็จะเป็นเรื่องเงินเยียวยา 5,000 บาท ที่หลายคนยังไม่ได้รับ แต่ก็อยากจะบอกช่างผมด้วยว่า ถ้าคุณเป็นแรงงานที่อยู่ในระบบ หรือเจ้าของกิจการที่จ่ายเงินประกันสังคมให้พนักงาน คุณก็จะไม่ต้องไปเข้าคิวหรือรอการพิจารณาเรื่องจากรัฐซึ่งตอนนี้ก็มีอยู่จำนวนมากและหลายอาชีพก็รออยู่เช่นกัน แต่ช่างทำผมส่วนใหญ่อยู่นอกระบบ หรืออยู่ในร้านเล็กๆ ก็จะมีปัญหาเรื่องรับเงินเยียวยา ส่วนช่างผมในร้านใหญ่ๆ ที่ดูแลเรื่องประกันสังคมด้วยก็จะไม่มีปัญหา เช่น ร้านชลาชลที่มีพนักงาน 300 กว่าคน ก็จะไม่มีปัญหาเลย เพราะทุกคนได้รับเงินช่วยเหลือ 62% จากประกันสังคม
มีคำแนะนำให้ช่างผมปรับตัวอย่างไรในช่วงโควิด
แน่นอนว่าช่วงนี้ช่างผมก็จะต้องปรับตัวกันเรื่องมาตรฐาน เรื่อง New Normal ต่างๆ ของอาชีพช่างผมที่เกิดขึ้นมาใหม่ ก็อยากแนะนำช่างผมว่าตอนนี้ยังไม่ต้องเน้นเรื่องสีผมหรือแฟชั่นอะไรให้มากนัก อยากให้เน้นเรื่องการดูแลสุขภาพตัวเอง ดูแลร้านให้ถูกสุขลักษณะ เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในช่วงโควิดนี้
คิดว่าวิกฤติโควิดครั้งนี้ให้บทเรียนอะไรกับ “ช่างผม” บ้าง
โควิดให้บทเรียนและสอนเรื่องต่างๆ ให้เราเยอะมากเลยนะครับ แต่ในวิกฤตินี้ก็มีโอกาสซ่อนอยู่ในนั้น ในส่วนของช่างผมก็ทำให้ทุกคนหันมาใส่ใจและพัฒนาการทำงานให้มีมาตรฐานมากขึ้น ให้ความสำคัญในเรื่องการดูแลร้านให้ถูกสุขลักษณะมากขึ้น ที่สำคัญวิกฤตินี้สอนให้เรารู้ว่า อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ในโลกนี้ เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะฉะนั้น “อย่าประมาทในการใช้ชีวิต” นะครับ
ฝากถึงพี่น้องช่างผม
ในฐานะที่ผมเป็นนายกสมาคมวิชาชีพช่างทำผมไทย และทำงานวงการช่างทำผมมานานกว่า 40 ปี ก็อยากฝากถึงช่างทำผมทุกคนนะครับว่า ประเทศไทยหลังจากนี้จะมีความเจริญรุ่งเรืองมาก ดูได้จากเหตุการณ์ที่ผ่าน ในด้านการแพทย์ของเราดีที่สุดในโลก ผมเชื่อว่าต่อไปนี้ หลังจากวิกฤตินี้หายไป คนทั่วโลกจะเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเยอะขึ้น เมื่อคนกลุ่มนี้เข้ามาแล้วก็จะมีไลฟ์สไตล์ต่างๆ อยากทำผม อยากนวดหน้า หรือเสริมความงามต่างๆ อาชีพช่างผมและเสริมสวยก็จะต้องรองรับและให้บริการคนกลุ่มนี้ จึงอยากฝากถึงช่างทำผมและช่างเสริมสวยทุกคน ให้ทำงานอย่างมีมาตรฐานอาชีพด้วย
สำหรับในส่วนของสมาคมวิชาชีพช่างทำผมไทยที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2563 เราต้องการมุ่งเน้นเรื่องการสร้างมาตรฐานร้านต่างๆ มาตรฐานช่างทำผม รวมไปถึงมาตรฐานทุกอย่าง ให้ครบถ้วน และครอบคลุม เพื่อให้คนต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยและรับบริการด้านทำผมและเสริมสวยเกิดมีความมั่นใจ และอีกเรื่องหนึ่งที่อยากฝากคือ ร้านทำผม และร้านเสริมสวยขนาดเล็กในอนาคตจะลำบากมาก ด้วยความที่ไม่ได้เข้ามาตรฐาน ก็อาจจะมีปัญหาได้ จึงอยากให้หันมาเรียนรู้ และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วย สุดท้ายก็อยากฝากไว้ให้ทุกคนมีกำลังใจ และมีความภูมิใจในอาชีพช่างทำผมของเรา ที่ตอนนี้ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ และเป็น 1 ใน 6 อาชีพที่ได้รับผ่อนปรนให้เปิดร้านได้แล้ว ในช่วงเวลาหลังจากนี้ก็ขอให้ทำตามมาตรฐานอาชีพ และคำนึงถึงเรื่องสุขอนามัยให้มาก เพื่อจะได้เปิดร้านกันได้นานๆ นะครับ