นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของวงการช่างผมไทย ที่เยาวชนรุ่นใหม่ไฟแรงได้ไปโชว์ฝีมือ คว้ารางวัลระดับอาเซียนจากเวทีใหญ่ WorldSkills ASEAN Singapore 2023 หรือ การแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 13 ณ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งปิดฉากไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อเดือน ก.ค.66 ที่ผ่านมา โดยกระทรวงแรงงานได้ส่งเยาวชนที่มีความสามารถด้านทักษะอาชีพเข้าลงแข่ง 24 คน ใน 12 สาขาอาชีพ คว้าเหรียญรางวัลมาได้ทั้งสิ้น 3 เหรียญเงิน 3 เหรียญทองแดง และ 9 เหรียญฝีมือยอดเยี่ยม ซึ่งในสาขาแต่งผมมี 2 เยาวชนไทยได้คว้ารางวัลสำคัญ พร้อมก้าวสู่การเป็นช่างผมมืออาชีพในอนาคต
แต่กว่าจะคว้ารางวัลมาได้… น้องๆ เยาวชนต้องผ่านการติวเข้มจากเหล่าเทรนเนอร์ระดับอาจารย์อย่างหนักขนาดไหน? นอกจาก “เหรียญรางวัล” การแข่งนี้ให้อะไรกับพวกเขาบ้าง? Hairworld Plus+ ได้รับเกียรติจากผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ “อาจารย์จ๋า ดุสิตา ศุภผลา” อุปนายกสมาคมวิชาชีพช่างทำผมไทย และประธานอนุกรรมการฝ่ายแข่งขัน WorldSkills Thailand สาขาแต่งผม มาพูดคุยกับแบบ Exclusive ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังการแข่งขัน ซึ่งนอกจากบทบาทการเป็นเทรนเนอร์แล้ว อาจารย์จ๋าก็ยังรับหน้าที่ Expert อีกด้วย ตามมาดูเส้นทางความสำเร็จ พร้อมกับทำความรู้จักการแข่งขัน WorldSkills ให้มากขึ้น
มาทำความรู้จัก WorldSkills และการแข่งในสาขาต่างๆ
เวที “WorldSkills” เป็นการแข่งขันด้านทักษะและอาชีพที่ใหญ่ที่สุด เป็นกิจกรรมการแข่งขันที่บรรจุไว้เป็นกิจกรรมหนึ่งของแผนงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นแผนพัฒนาและเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ เพื่อเป็นเวทีที่สร้างการยอมรับในความเป็นเลิศด้านฝีมือ อีกทั้งช่วยพัฒนาแรงงานรุ่นใหม่ให้มีฝีมืออยู่ในระดับสูง เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและบริการของประเทศในอนาคต รับผิดชอบโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ในส่วนเส้นทางการแข่งขันสำหรับเยาวชน จะเริ่มต้นจากการแข่งขันฝีมือแรงงานระดับภาค แต่ละภาคจะส่งตัวแทนมาเพื่อทำการแข่งขัน “ฝีมือแรงงานแห่งชาติ” และจะนำผู้เข้าแข่งขันที่ชนะเลิศ รองชนะเลิศ ก้าวเข้าสู่ “การแข่งขันฝีมือแรงงานในระดับนานาชาติ” ในระดับอาเซียน ระดับเอเชีย และระดับโลกในลำดับต่อไป (ตามผังด้านล่าง) ขึ้นอยู่กับงบประมาณของแต่ละปีด้วยว่าสามารถจะส่งเข้าแข่งขันได้กี่สาขา
ซึ่งการแข่งขันเราจะแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้
- กลุ่มสาขาอาชีพเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิต เช่น แมคคาทรอนิค เทคโนโลยีงานเชื่อมหุ่นยนต์เคลื่อนที่ ฯลฯ
- กลุ่มสาขาอาชีพเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น เว็บ Design เทคโนโลยีสารสนเทศ การดูแลระบบเครือข่ายสารสนเทศ
- กลุ่มสาขาอาชีพแฟชั่นและครีเอทีฟ เช่น แฟชั่นเทคโนโลยีกราฟิกดีไซน์
- กลุ่มสาขาอาชีพขนส่งและโลจิสติกส์ เช่น เทคโนโลยียานยนต์ช่างซ่อมรถยนต์ สีรถยนต์
- กลุ่มสาขาอาชีพเทคโนโลยีก่อสร้างและอาคาร เช่น ระบบไฟฟ้าภายในอาคารท่อและสุขภัณฑ์ปูกระเบื้องก่ออิฐ ไม้เครื่องเรือน
- กลุ่มสาขาอาชีพบริการส่วนบุคคลและสังคม เช่น เสริมความงามแต่งผมประกอบอาหารบริการอาหารและเครื่องดื่ม
ในส่วนของสาขาแต่งผม มีการแข่งอะไรบ้าง
ถ้าพูดถึงสาขาแต่งผม ผู้เข้าแข่งขันหรือเยาวชนของเราจะมีการคัดตัวมาก่อนเป็นลำดับ ตั้งแต่ระดับภาค ระดับชาติ เกณฑ์การคัดเลือกตัวหรือคุณสมบัติของผู้เข้าแข่งขันจะต้องมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 22 ปี และมีสญชาติไทย ส่วนโจทย์ที่เราใช้แข่งขัน ผู้เข้าแข่งขันจะต้องสามารถทำได้ทั้งผมบุรุษและผมสตรี การแข่งขันจะต้องทำได้ครบวงจรไม่ว่าจะเป็นการตัด ดัด ยืด ทำสี การเกล้าผม และการทำงาน นำเสนอแฟชั่นด้วยรูปแบบของการถ่ายทำ แฟชั่นทรงผมลงใน Magazine
สำหรับการแข่งขันในระดับ WorldSkills ASEAN เป็นการรวมตัวกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รูปแบบการแข่งขันจะใช้เวลาในการแข่งขัน 3 วัน 15-18 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นการแข่งขัน WorldSkills จะมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 85 ประเทศ รูปแบบการแข่งขันจะใช้เวลา 4 วันชั่วโมงในการแข่งขัน 15-22 ชั่วโมง ก็จะแบ่งโจทย์ออกได้ประมาณ 7 ทรง (1) ตัดซอยทำสี ผมหญิง (2) เทคนิคการต่อผมหญิงตามสไตล์แฟชั่น (3) ผมยาวเกล้า (4) ทำผมสไตล์ Magazine พร้อมถ่ายรูปนำเสนอผลงาน (5) ตัดผมชายโดยใช้กรรไกรล้วน ห้ามใช้บ้ตเตอเลี่ยน (6) ตัดผมชายพร้อมทำสีสไตล์แฟชั่น และ (7) ดัดผมชายสไตล์แฟชั่น
ซึ่งโจทย์ทุกทรงจะมีการประชุมกันในกลุ่มคณะกรรมการ WorldSkills และตั้งกฎกติกาในแต่ละทรงเพื่อใช้ในการแข่งขันครั้งต่อไป ผู้เข้าแข่งขันจะไม่ได้เห็นมาก่อนล่วงหน้า จึงเป็นการยากมากในเรื่องของการเทรนนิ่ง เพราะเราต้องฝึกฝนในทุกๆ สไตล์เพราะไม่รู้ว่าในเวทีการแข่งขันเราจะเจอรูปแบบใด กลุ่ม Trainer จะต้องสอนให้น้องๆ เยาวชนดูรายละเอียดของทรงผมจากรูปภาพให้ออกและใกล้เคียงลูกมากที่สุด เพราะคะแนน จะมาจากการที่เราสามารถแกะส่งออกมาให้ได้ตามความต้องการของลูกค้ามากที่สุด
ก่อนหน้านี้เยาวชนสาขาแต่งผมเคยได้รับรางวัลอะไรมาบ้าง
ถ้าพูดถึงในระดับ WorldSkills ASEAN สาขาแต่งผมเพิ่งมีการจัดการแข่งขันในระดับอาเซียน ครั้งแรกเมื่อปี 2010 เยาวชนสาขาแต่งผมได้รับเหรียญเงิน และตั้งแต่มีการแข่งขัน ASEAN Skills มานั้นสาขาแต่งผมได้รับเหรียญมาโดยตลอด ครั้งแรก ปี 2010 เหรียญเงิน, ปี 2012 เหรียญทองแดง 2 เหรียญ, ปี 2014 เหรียญทอง และเหรียญยอดเยี่ยม, ปี 2016 เหรียญทอง และเหรียญทองแดง, ปี 2018 เหรียญเงินและเหรียญยอดเยี่ยม และล่าสุดปี 2023 ได้รับเหรียญเงิน และเหรียญ Best of The Nation คะแนนสูงสุดของประเทศไทย ส่วนการแข่งขันระดับ World Skills สาขาแต่งผม เข้าร่วมการแข่งขันมา เหรียญรางวัลที่ได้รับสูงสุดจะเป็นเหรียญทองแดง และหลังจากนั้นก็คืออยู่ในระดับเหรียญฝีมือยอดเยี่ยมมาโดยตลอด ก็ถือได้ว่าสาขาแต่งผมของประเทศไทยทำผลงานออกมาในแต่ละปีได้เป็นอย่างดี
ช่วยเล่าถึงการทำหน้าที่เทรนเนอร์การแข่ง WorldSkills
การแข่งขันแต่ละครั้งในระดับนานาชาติ เช่น Work Q Asian ประเทศไทยจะต้องส่งคณะกรรมการตัดสินไปทำการตัดสิน 2 ท่าน ซึ่งครั้งนี้ก็จะมี อาจารย์เปรม สิทธิปรีดานันท์ เลขานุการสมาคมวิชาชีพช่างทำผมไทย และอาจารย์จ๋า ดุสิตา ทำหน้าที่เป็น Expert หรือคณะกรรมการตัดสิน และคณะกรรมการตัดสินเองก็จะต้องทำข้อสอบออนไลน์ในส่วนของหน้าที่ความรับผิดชอบให้ผ่านให้ได้ 100% เต็มถึงจะมีสิทธิ์ไปตัดสินในระดับนานาชาติ และต้องมีการทดสอบใหม่ทุกปี แต่ถ้าเป็นระดับ World Skills หรือระดับโลก คณะกรรมการตัดสินซึ่งอาจารย์จ๋าจะเป็นตัวแทนของคณะกรรมการตัดสินในระดับโลกเพียงหนึ่งเดียวของประเทศไทย ต้องทำ นอกจากต้องทำข้อสอบแล้วเมื่อเดินทางไปถึงสนามแข่งตัวคณะกรรมการเองจะถูกทดสอบด้วยการจับฉลากและทำทรงผมที่จับฉลากให้คณะกรรมการท่านอื่นๆ ดู เช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ก็ต้องทำเช่นนี้เหมือนกัน เพื่อให้มั่นใจว่าคณะกรรมการที่ถูกเชิญมาตัดสินและถูกแต่งตั้งมาในแต่ละประเทศนั้นมีความสามารถทั้งค่าความรู้และภาคปฏิบัติจริงๆ
การแข่งขันนี้มีความยาก และต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง
สมัยก่อนการแข่งขัน WorldSkills ระดับโลก Trainer และผู้เข้าแข่งขันจะเตรียมทรงที่คิดว่าสวยและโดดเด่นไปเอง เพียงประเภทละ 1 ทรงเท่านั้น แล้วไปวัดกันว่าใครจะทำได้สวยที่สุด และส่วนใหญ่ ทรงจะเป็นแนวศิลปะ เว่อร์วัง ไม่สามารถใช้งานได้จริงในซาลอน ซึ่งไม่ตรงกับจุดประสงค์ของการจัดการแข่งขัน เพื่อวัดระดับฝีมือแรงงาน และความต้องการของตลาดแรงงาน แต่ ณ ปัจจุบันนี้การแข่งขันเปลี่ยนไปแนวการแข่งขันจะเป็นลักษณะ Commercial มากขึ้น เน้น Process ของการทำงาน ขั้นตอนการทำงานต้องถูกต้องตาม Industry Standard เน้นความต้องการของลูกค้าที่มาใช้บริการในซาลอนมากขึ้น และมีความรักษ์โลก และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การ Reuse และ Recycle เข้ามาเป็เกณฑ์การทำงานมากขึ้น
ความยากของผู้เข้าแข่งขัน ไม่ใช่อยู่ที่โจทย์ของส่งแต่จะอยู่ที่ความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก เพราะผู้เข้าแข่งขันไม่สามารถทราบมาก่อนล่วงหน้าว่ารูปทรงผมแต่ละทรงที่จะใช้ในการแข่งขัน จะเป็นทรงอะไร เพราะในชีวิตจริงในซาลอนลูกค้าจะถือทรงผมมาให้เราดูและเราออกแบบและทำตามความต้องการของลูกค้า
รู้จัก 2 เยาวชนคนเก่ง และเทรนเนอร์ที่ร่วมฝึกซ้อมครั้งนี้
น้องเยาวชนทั้ง 2 ท่าน เป็นตัวแทนผ่านการแข่งขันมาจากระดับชาติ ซึ่งปีนี้นายสิทธิพร พาสง่า จากโรงเรียนเสริมสวยอรอุบล จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับชาติ และนางสาวลาลิต เอนกธูป จากการคัดตัวเพิ่มเติมของคณะอนุกรรมการ ฝ่ายแข่งขันส่วนกลาง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 ในส่วนของเทรนเนอร์ที่มีส่วนร่วมในการแข่งครั้งนี้ก็จะเป็นคณะอนุกรรมการของสาขาแต่งผม ต้องขอขอบคุณ ท่านอาจารย์อาดัม สะเล็ม จากโรงเรียนเสริมสวยอดัมแอนด์อีฟ ท่านอาจารย์ธงชัย ม่วงบำรุง จากธงชัยแฮร์เทรนนิ่งเซ็นเตอร์ และตัวอาจารย์จ๋า จากสถาบันโอเอซิสซาลอน เอง รอบนี้เรามีการฝึกซ้อมวนเวียนกันอยู่ 3 สถาบันนี้ ด้วยเวลาที่จำกัด เราจะส่งเด็กทั้ง 3 ไปฝึกซ้อม ที่ 3 สถาบันนี้ ต้องบอกเลยว่ารอบนี้เหน็ดเหนื่อยสาหัสจริงๆ ทั้งเทรนเนอร์และตัวแทนเยาวชนที่จะไปแข่งขัน
กว่าจะคว้ารางวัล… เทรนเนอร์และช่างผมมือใหม่ผ่านปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง?
เรามีเวลาเก็บตัวแค่ประมาณ 1 เดือนครึ่งก่อนที่จะบินไปแข่งขันที่ประเทศสิงคโปร์ ด้วยความที่เยาวชนที่เป็นตัวแทนในระดับชาติมา มีอายุเพียง 17 และ 19 ปี ความรับผิดชอบและ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้ายังไม่ค่อยมีประสบการณ์การทำผม และมีพื้นฐานค่อนข้างอ่อน จึงเป็นการยากที่ทีมเทรนเนอร์จะทำการฝึกซ้อมเพราะต้องมาสอนเขาตั้งแต่การจับอุปกรณ์ การตัด การไดร์ และการทำสี ให้ถูกวิธีใหม่ เพราะด้วยวิธีการที่เขาทำอยู่ไม่ถูกต้อง และปัญหาที่ยิ่งใหญ่อีกปัญหาหนึ่งก็คือผลิตภัณฑ์ ซึ่งทางประเทศเจ้าภาพใช้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีจำหน่ายในเมืองไทย รวมถึงหัวหุ่นที่ใช้ในการแข่งขันก็ต้องสั่งจากต่างประเทศทั้งหมด ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเก็บตัวค่อนข้างสูง สาขาแต่งผมเราต้องใช้งบประมาณของทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 100% ส่วนช่วงที่เรารอผลิตภัณฑ์ที่เราสั่งมาจากต่างประเทศเราก็ได้รับการสนับสนุนจากผลิตภัณฑ์โลแลน รวมถึงอุปกรณ์ที่เยาวชนใช้ทุกๆ อย่าง คุณต้น วิบูลย์ สมบูรณ์ศักดิกุล ผู้บริหารของบริษัท เอส.ซี. เสรีชัย เป็นผู้ให้การสนับสนุน หวี ไดร์ กรรไกร ปัตตาเลี่ยนทั้งหมด ระหว่างฝึกซ้อมมาอย่างยาวนานตั้งแต่เริ่มมีการแข่งขันในทุกๆ ระดับ ต้องขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย
ด้วยระยะเวลาเพียงแค่ 1 เดือน กลุ่มเทรนเนอร์จึงต้องใช้เวลาในการฝึกซ้อมในแต่ละวัน อย่างน้อย 12 ชั่วโมงก่อนที่จะบินไปแข่งขัน ช่วงที่เราฝึกซ้อมเราจะมีการทดสอบเด็ก โดยจำลองสถานการณ์เหมือนแข่งขันจริงจับเวลาจริงและให้คณะอนุกรรมการแข่งขันสาขาแต่งผมมาเป็นผู้ให้คะแนนและทำการวิพากษ์ผลงานของตัวแทนเยาวชนทั้ง 2 เพื่อทำการปรับและแก้ไขในส่วนที่บกพร่องก่อนการเดินทาง ด้วยปีนี้มีปัญหาที่เราประสบหลายๆ อย่างเช่นเวลาในการฝึกซ้อม น้อยมากคือแค่ประมาณ 1 เดือน และงบประมาณที่จะใช้ในการไปแข่งขันยังไม่มีความชัดเจน จนถึงเวลาก่อนการแข่งขันเพียงแค่ 10 วัน ถึงจะทราบว่าเยาวชนทุกท่านสามารถเดินทางไปแข่งขันได้ เราก็ทำการเร่งทำหลักฐาน จองโรงแรม จองตั๋วเครื่องบิน โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมด กรม พัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด เพื่อที่จะบินไปแข่งขันซึ่งในครั้งนี้สาขาที่เขาแข่งขันประเทศไทยส่งไปทั้งหมด 12 สาขา และเยาวชน รวมทั้งสิ้น 24 คน
หลังจากนี้น้องเยาวชนจะต้องแข่งขันเวทีอะไรต่อไป
สำหรับเวทีต่อไป ทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้แจ้งมาแล้วว่าน้องสิทธิพร พาสง่า จะต้องเดินทางไปแข่งขันในระดับเอเชียต่อไป ประมาณเดือนพฤศจิกายน และเราจะเริ่มทำการเก็บตัวกันในเดือนตุลาคมนี้ ที่อาบูดาบี และตัวอาจารย์จ๋าเองก็จะต้องไปทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการตัดสินในเวทีนี้ด้วย
สิ่งที่น้องๆ ได้จากการแข่งขันครั้งนี้
ถ้าจะถามว่าน้องๆ ได้อะไรจากการแข่งขัน WorldSkill และ ASEAN Skill นี้ บอกได้เลยว่า หลังจบจากการเข้ารับการ Training น้องๆ สามารถเปิดร้านได้เลย เพราะเป็นการฝึกฝนแบบครบวงจรจริงๆ และสิ่งหนึ่งที่ได้แน่ๆ คือ การแลกเปลี่ยน ทักษะและฝีมือ รวมถึงได้รับ และรู้จักเพื่อนใหม่ๆ จากการที่เขาได้ไปแข่งขันร่วมกันในกลุ่มอาเซียน และในระดับเอเชีย
ฝากถึงเยาวชนอยากเข้าแข่งขัน WorldSkills
สำหรับน้องๆ เยาวชนที่อยากเข้าแข่งขัน WorldSkill Thailand, ASEANSKILLS, WORLDSKILLS Asia และ Worldskills ในระดับโลกเตรียมตัวไว้ได้เลยนะคะ เพราะว่าประมาณเดือนตุลาคม 2566 จะมีการคัดเลือกตัวในระดับภาคจากทั่วประเทศเพื่อเข้าสู่การแข่งขันในระดับชาติและระดับนานาชาติต่อไป ส่วนแนวทาง ข้อสอบหรือทรงผมที่จะใช้ในการแข่งขันต่างๆ รวมทั้งรายละเอียดเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง คอยติดตามข่าวสารของการแข่งขันมาตรฐานฝีมือแรงงานผ่านได้จากเพจ Hairworld Plus+ รวมทั้งเพจ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ WorldSkills Thailand
กว่าจะคว้ารางวัลมาได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องฝึกซ้อมอย่างหนัก เหน็ดเหนื่อยทั้งผู้เข้าแข่งขันและเหล่าเทรนเนอร์ แต่ความสำเร็จที่ได้มานับว่าคุ้มค่า Hairworld Plus+ ขอชื่นชมผู้อยู่เบื้องหลังทุกท่าน ที่ร่วมช่วยกันส่งเสริมและผลักดันน้องๆ รุ่นใหม่ สร้าง “ช่างผมมืออาชีพ” ให้วงการช่างผมไทย เชื่อได้ว่ารางวัลระดับอาเซียนที่เยาวชนไทยได้รับครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้น้องๆ ได้เติบโตในเส้นทางอาชีพช่างผม และนำไปสู่การสร้างชื่อเสียงให้ประเทศในเวทีระดับสากลต่อไป