ปิดฉากลงอย่างน่าประทับใจ สำหรับการแข่งขัน “WorldSkills Kazan 2019” หรือการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 45 ณ เมืองคาซาน สหพันธรัฐรัสเซีย เมื่อวันที่ 22-27 สิงหาคม 2562 ที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมทักษะฝีมือแรงงานของเยาวชนทั่วโลกในสาขาอาชีพต่างๆ Hairworld Plus+ ฉบับนี้มีโอกาสได้พูดคุยกับน้องเยาวชนคนเก่ง “นางสาววิลาวัลย์ จันทราฤทธิ์” ที่ได้รับรางวัลทักษะฝีมือยอดเยี่ยมในสาขาแต่งผม รวมถึงทีมงานที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ซึ่งนำทีมโดย “อาจารย์จ๋า-ดุสิตา ศุภผลา” มาติดตามกันว่า…กว่าจะประสบความสำเร็จเช่นนี้พวกเขาต้องเตรียมตัวอย่างหนักขนาดไหน รวมทั้งประสบการณ์ดีๆ ที่ได้จากการแข่งขันครั้งนี้
อาจารย์จ๋า ดุสิตา ศุภผลา
เจ้าของสถาบัน Oazis Salon, นักเขียนรับเชิญกิตติมศักดิ์นิตยสาร Hairworld Plus+
การเตรียมความพร้อมของการเป็นผู้ฝึกซ้อมและกรรมการตัดสินผมโลกของอาจารย์จ๋า ดุสิตา ศุภผลา ในฐานะประธานอนุกรรมการเทคนิคฝีมือแรงงานแห่งชาติ และอนุกรรมการฯ ทุกท่าน ต้องมีการวางแผนทีมฝึกซ้อมเยาวชนเพื่อให้สอดคล้องกับการแข่งขันที่เปลี่ยนไป ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เทคนิคและวิธีการเก็บตัวฝึกซ้อมก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย ตลอดระยะเวลาของการทำหน้าที่กรรมการตัดสิน WorldSkills Hairdressing ตั้งแต่ปี 2010 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และระดับอาเซียนตั้งแต่ปี 2010 มีการเปลี่ยนแปลงเยอะมาก การคัดสรรผู้เชี่ยวชาญในระดับนานาชาติหรือระดับโลกก็มีหลักเกณฑ์การคัดเลือกที่เข้มงวดมากเช่นกัน นอกเหนือไปจากกฎระเบียบต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดจะถูกยึดเก็บไว้ในล็อกเกอร์ มีช่วงเวลาให้พูดคุยกับผู้เข้าแข่งขันชาติเดียวกันแค่ช่วงก่อนการแข่งขัน 15 นาทีเท่านั้น ประเทศที่ต้องใช้ล่ามในการสื่อสาร ประเทศนั้นจะต้องส่งประวัติล่ามไปก่อน จะมีการจับสลากเพื่อส่งล่ามไปช่วยแปลในสาขาที่ขอล่ามไป เพื่อป้องกันการนำผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ แฝงตัวมาเป็นล่าม และจะได้ล่ามที่เป็นล่ามจริงๆ
ด้วยผู้เข้าแข่งขันของเราซึ่งเป็นเด็กมาก ด้วยข้อกำหนดที่ว่าต้องอายุตั้งแต่ 15-22 ปี ทำให้การเฟ้นหาตัวแทนจากประเทศไทยในแต่ละรุ่นค่อนข้างที่จะหายาก เพราะสาขาแต่งผมไม่มีการจัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมต้นหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นต้น ความรู้ขั้นพื้นฐานด้านทำผมและด้านภาษาอังกฤษจึงเป็นปัญหาหลักของการฝึกซ้อม เราจึงจัดทีมฝึกซ้อมเป็น 2 ทีม ทีมนึงจะเป็นทีมที่ดูแลเรื่องเอกสาร และการสื่อสารภาษาอังกฤษ อีกทีมจะฝึกซ้อมด้านเทคนิคต่างๆ ด้านทำผมทั้งผมชายและผมหญิง ทีมแรกก็จะมี
นายเปรม สิทธิปรีดานันท์ มีหน้าที่ดูแลจัดเตรียม แปลเอกสารภาษาอังกฤษทั้งหมด ทั้งกฎที่มีการเปลี่ยนแปลงอิงไปตามเทรนด์ผมโลก กติกาที่ปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมที่จะใช้ในซาลอน โจทย์ทรงทั้งหมด 7 ทรง ซึ่งมีความแตกต่างจากทุกปี ในปีนี้เยาวชนจะต้องทำตามรูปที่ให้มามากขึ้นหรือใกล้เคียงที่สุด ซึ่งเปรียบเสมือนกับลูกค้ามาใช้บริการที่ร้าน ซึ่งจะต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่ออธิบายให้เยาวชนเข้าใจถึงโจทย์ ติดต่อประสานงานทั้งประเทศที่จัดแข่งขัน ซึ่งมีรายละเอียดที่ต้องอัพเดตกันอาทิตย์ต่ออาทิตย์ เพราะประเทศที่แข่งขันมีจำนวนมาก ก็จะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมและยอมรับเพื่อความเท่าเทียมกัน ดังนั้น ข้อมูลที่ได้มาทั้งหมดจะต้องถ่ายทอดไปยังเยาวชนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งเมื่อเยาวชนได้แนวทางโจทย์และกติกาทั้งหมดแล้วก็จะส่งให้ทีมฝึกทีมที่ 2 ฝึกซ้อมต่อไป
น.ส.เกศริน จันทราฤทธิ์ เคยเป็นผู้เข้าแข่งขันรุ่นพี่มาก่อน ก็จะมาช่วยดูเรื่องตารางการฝึกซ้อม ซึ่งค่อนข้างหนักและกดดันพอสมควร วันละ 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 4 เดือนเต็ม ในแต่ละแมทช์ เพราะโจทย์ที่ได้รับมานั้นไม่เหมือนทุกปีที่ผ่านมา เทรนเนอร์ก็จะต้องอัพเดตความเปลี่ยนของทรงผมโลกอยู่ตลอดเวลา รวมถึงต้องเข้าใจวิธีการทำผมให้ครอบคลุมทั่วโลก ถือว่าเป็นความท้าทายใหม่ที่ทางเทรนเนอร์ต้องปรับตัว และเป็นการแข่งกับตัวเองด้วย ซึ่งแน่นอนที่สุดในการแข่งขันเด็กเยาวชนก็จะมีอาการท้อและหมดกำลังใจบ้างเป็นระยะๆ ก็จะเป็นหน้าที่ของทีมนี้ที่จะต้องช่วยกันสร้างแรงบันดาลใจและคอยให้กำลังใจ ให้น้องๆ ต่อสู้และฟันฝ่าอุปสรรคครั้งยิ่งใหญ่นี้ไปให้ได้ เรียกได้ว่าการทำงานเป็นทีมมีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน
ด้วยกฎกติกาใหม่ ทางเจ้าภาพ (รัสเซีย) จะต้องเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไว้ให้ผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด ทีมนี้ต้องหาข้อมูลของอุปกรณ์ เครื่องมือและผลิตภัณฑ์ทุกตัวที่เจ้าภาพกำหนด ถ้าเป็นไปได้ก็ต้องจัดหามาให้เด็กฝึกซ้อมก่อนเพื่อทำความคุ้นเคย และหน้าที่สำคัญของทีมนี้อีกอย่างหนึ่งคือ ต้องหาการแข่งขันให้เด็กซ้อมมือทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ ซึ่งปีนี้ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ ถ้วยประทานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และจังหวะที่ดีที่ได้รับการติดต่อจากประเทศจีนให้เข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ BRISC 2019 ที่ฉงชิ่ง ประเทศจีน ซึ่งกฎกติกาต่างๆ ที่ออกมานั้นมาจากกฎของ WorlSkills ที่จัดขึ้นที่ประเทศรัสเซีย ทำให้เหมือนกับว่าเยาวชนได้ฝึกซ้อมและเรียนรู้กฎกติกาก่อนไปเจอของจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก และยังได้รับรางวัลทักษะฝีมือยอดเยี่ยมมาอีกด้วย ในครั้งนี้การแข่งขัน WorldSkills 2019 น้องหมวย หรือนางสาววิลาวัลย์ จันทราฤทธิ์ ทำคะแนนได้ 77 จาก 100 คะแนน จากการแข่งขัน 7 ทรง 22 ชั่วโมง ใช้เวลาแข่งขัน 4 วัน จึงได้รางวัลทักษะฝีมือยอดเยี่ยม Medallion for Excellence มาครองในที่สุด
น.ส.วิลาวัลย์ จันทราฤทธิ์
ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ร้านน้องเกศ แฮร์คัท จันทบุรี ค่ะ โดยก่อนหน้านี้ได้เข้าแข่งขันและรับรางวัลจากการแข่งระดับภาคมาก่อน แล้วก็มาแข่งต่อระดับประเทศและระดับอาเซียน จนมาถึงการแข่งขัน WorldSkills ในระดับนานาชาติค่ะ ซึ่งก่อนเข้าแข่งขันก็ได้เตรียมความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ รวมทั้งได้ฝึกฝนเพิ่มเติมกับเทรนเนอร์หลายท่านที่มีความชำนาญในหลายๆ ด้าน ซึ่งระหว่างที่ไปแข่งขันระดับนานาชาติรู้สึกตื่นเต้น และมีความกดดันด้วยเพราะข้อสอบปีนี้ยากมาก แต่หลังจากได้รับรางวัลแล้วภูมิใจมาก และรู้สึกว่าคุ้มค่ากับการที่เราทุ่มเทให้กับการฝึกซ้อมตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา
สำหรับการประกวดครั้งนี้ให้ประสบการณ์หลายอย่าง ทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ฝึกฝนและพัฒนาฝีมือตัวเอง และคิดว่าสิ่งต่างๆ ที่ได้รับจากการแข่งขันครั้งนี้สามารถนำไปปรับใช้ที่ร้านได้ด้วย เมื่อเจอลูกค้าจริงเราก็จะมั่นใจมากขึ้น สุดท้ายนี้ก็อยากฝากถึงเยาวชนรุ่นใหม่ที่สนใจเข้าแข่งขัน WorldSkills ว่าอยากให้เริ่มจากมีความตั้งใจจริง เตรียมตัวให้พร้อม และฝึกฝนตัวเองในทุกๆ ด้าน เพื่อรับความกดดันต่างๆ ที่ต้องพบในการแข่งขัน เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอนค่ะ
อาจารยอาดัม – นิพนธ์ สะเล็ม
ผู้บริหารโรงเรียนออกแบบทรงผมอดัม สำโรง และอุดมสุข
อาจารย์ดุสิตาเป็นผู้เชื้อเชิญให้มาฝึกสอนเยาวชน ซึ่งเราก็เป็นคณะที่ทำงานร่วมกันมาอยู่แล้ว รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่นี้ ซึ่งที่ผ่านมากผมทำหน้าที่ฝึกสอนเยาวชนมาหลายปีแล้ว โจทย์การแข่งขันในแต่ละปีจะปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด เราก็ต้องค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำมาฝึกฝนตัวเองด้วย แล้วก็นำไปพัฒนาเยาวชนเพื่อให้เกิดการทำงานที่สอดคล้องกัน สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากเข้าแข่งขัน WorldSkills ในครั้งต่อไป ก็อยากฝากเรื่องการเตรียมความพร้อมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของเทรนเนอร์ ซึ่งแน่นอนว่าในแต่ละครั้งอนุกรรมการก็จะหาสิ่งที่ดีที่สุดมาให้เยาวชน และฝึกซ้อมให้อย่างเต็มที่ เราก็คาดหวังให้เยาวชนที่จะเข้ามาตรงนี้มีความตั้งใจและเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อจะนำไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน
อาจารย์กาญจนา ปันจันทึก เทรนเนอร์
ครูสอนตัดผมชาย และหัวหน้าแผนกเสริมสวยตัดผม วิทยาลัยสารพัดช่าง จ.สมุทรปราการ
อาจารย์ดุสิตาเชิญให้เข้าร่วมเป็นอนุกรรมการสาขาแต่งผมเพื่อร่วมฝึกสอนเยาวชนค่ะ รู้สึกภูมิใจและดีใจมาก เพราะงานนี้ตรงกับสายงานที่ทำอยู่ ในส่วนของการเตรียมตัวเพื่อฝึกซ้อมเยาวชน เราจะต้องรู้แนวทางโจทย์ที่จะใช้ในการแข่งขัน รวมทั้งดูว่าเยาวชนมีความสามารถอยู่ในระดับไหน เพื่อจะได้รู้ว่าต้องแนะนำด้านใดเพิ่มเติมที่จะพัฒนาความสามารถของเขาให้ไปแข่งขันในระดับนานาชาติได้ ซึ่งหลังจากเยาวชนได้รับรางวัล เรารู้สึกดีใจ และภูมิใจมาก สำหรับน้องๆ รุ่นใหม่ที่สนใจการแข่งขันนี้ก็อยากให้มีความตั้งใจและฝึกฝนอย่างเต็มที่ แล้วทุกอย่างก็จะไม่ยากเกินความสามารถของเรา
อาจารย์หน่อง – ธงชัย ม่วงบำรุง
เจ้าของสถาบันธงชัย แฮร์เทรนนิ่ง
ผมได้รับการแต่งตั้งจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้มาทำหน้าที่ตรงนี้ รู้สึกภูมิใจมากที่ได้นำความรู้และประสบการณ์มาถ่ายทอดให้เยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งในส่วนของการเป็นเทรนเนอร์ก็จะต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม และคอยติดตามว่าในแต่ละปีโจทย์การแข่งขันปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใด ซึ่งในส่วนการฝึกสอนก็จะให้น้องๆ ได้เรียนรู้มาตรฐานการตัดแต่งทรงผม จากนั้นจึงเพิ่มเติมเรื่องของเทรนด์ผมและแนวทางของโจทย์ในแต่ละปี สำหรับความรู้สึกหลังจากเยาวชนได้รับรางวัล เราก็รู้สึกดีใจ ถือเป็นความสำเร็จของเทรนเนอร์ด้วย และเป็นเกียรติประวัติในอาชีพของเราเช่นกัน สุดท้ายก็อยากฝากถึงพี่น้องชาวเสริมสวยทุกท่านที่มีบุตรหลานและอยากส่งเสริมให้มีประสบการณ์ในการประกวดแข่งขัน ก็อยากให้เตรียมตัวล่วงหน้า 1-2 ปี ซึ่งจะทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จค่อนข้างสูง
อาจารย์ชาติ – สมบัติ ไตรยสุทธิ์
ผู้บริหารโรงเรียนเสริมสวยออกแบบทรงผมอาจารย์ชาติ
อาจารย์ดุสิตาเป็นผู้แนะนำให้เข้ามาทำงานตรงนี้ รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจมากที่ได้มีส่วนร่วมในการฝึกสอนเยาวชน ซึ่งตัวผมเองเคยผ่านการแข่งขันระดับประเทศมามากกว่า 10 เวที จึงสามารถนำประสบการณ์ที่มีมาปรับใช้ในการฝึกสอน และถ่ายทอดให้เยาวชนได้เรียนรู้ ซึ่งหลังจากเห็นเยาวชนได้รับรางวัลก็รู้สึกดีใจมากๆ เพราะถือเป็นรางวัลสำคัญและเป็นประสบการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตของผู้ที่ได้รับรางวัลนี้ สำหรับน้องๆ รุ่นใหม่ที่อยากหาประสบการณ์ในเวทีระดับนานาชาติ ก็อยากฝากไว้ว่าอย่ากลัวที่จะเข้าแข่งขัน เพราะเราจะได้เรียนรู้และได้ประสบการณ์ดีๆ มากมาย ทั้งเรื่องเทคนิคต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะทำให้เราพัฒนาฝีมือได้อย่างรวดเร็ว
ในการแข่งขันต่างๆ เหรียญรางวัลย่อมเป็นสิ่งที่ทำให้เราภาคภูมิใจ แต่มีสิ่งสำคัญกว่านั้น คือ ประสบการณ์ที่ได้รับมา ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในอาชีพและการทำงานทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อีกด้วย