คำพูดสามารถสร้างได้ทั้งพลังด้านบวกและลบต่อผู้ฟัง ในขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงบุคลิกภาพของผู้พูดได้ด้วย ในการทำงานในร้านทำผมที่ต้องพบกับคนแปลกหน้าและสัมผัสเส้นผมซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวของลูกค้าตลอดเวลา การสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างกันจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น แล้วช่างทำผมควรจะพูดอย่างไรให้ส่งผลดีต่อคนที่เพิ่งเคยพบหน้า หรือพูดอย่างไรแล้วให้ได้ผลเชิงจิตวิทยา ได้ใจลูกค้า เหล่านี้เป็นเรื่องที่ควรเรียนรู้ วันนี้ Hairworld Plus+ เลยขอนำ 6 เทคนิคคุยกับลูกค้า เพื่อสร้างบทสนทนาให้ต่อเนื่องอย่างมืออาชีพ พูดอะไรแล้วปัง พูดแบบไหนจะพังเรามาดูกันเลย
เทคนิคที่ 1 แบ่งปันประสบการณ์
ก้าวแรกของการกระตุ้นให้คู่สนทนาก้าวออกมาจากเกราะป้องกันตัวเองคือ การทำให้ลูกค้ารู้สึกปลอดภัยโดยมองหาจุดร่วมที่คล้ายคลึงกัน ลองคุยเรื่องละคร เพลง งานอดิเรก ถ้าเกิดว่ารู้เรื่องเดียวกันขึ้นมา บทสนทนาก็จะไหลลื่นและต่อยอดต่อไปได้อีก
เทคนิคที่ 2 เป็นมืออาชีพเสมอ
แม้บางครั้งลูกค้าประจำของคุณจะสนิทสนมกันมากถึงขั้นที่สามารถหยอกล้อกันได้ แต่ต้องระลึกไว้อยู่เสมอว่าภายใต้ความสนิทสนมนั้นคุณต้องไม่ล้ำเส้น แม้ลูกค้าจะพูดเล่าเรื่องปัญหาชีวตหรือครอบครัวให้ฟัง ควรหยุดอยู่ที่ขั้นการรับฟังเท่านั้น ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความเห็นใดๆ
เทคนิคที่ 3 ก้าวเล็กๆ ดีกว่าก้าวกระโดด
ไม่ว่าจะอยากให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลายและไว้ใจเรามากแค่ไหนก็แล้วแต่ ไม่ควรเล็งคำถามที่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวตั้งแต่แรก คุยเรื่องผิวเผินไปทีละน้อย จับทิศทางของบทสนทนาให้ดี ถ้าเริ่มเข้าไปเรื่องส่วนตัวแล้วลูกค้าพูดน้อยลง หรือตอบสั้นๆ แสดงว่าเขาอาจเป็นคนที่เว้นระยะซักหน่อย ดังนั้นเปลี่ยนประเด็น อย่าคุยเรื่องนั้นต่อจะเป็นการดี
เทคนิคที่ 4 หลีกเลี่ยงบทสนทนาที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยก
ศาสนา, การเมือง, เหยียดผิว, เหยียดเพศ หัวข้อแบบนี้นำไปสู่ความแตกแยกได้ ดังนั้นต่อให้ลูกค้าเข้ามานั่งระบายปัญหาการเมืองแบบเผ็ดร้อนแค่ไหน คุณก็ไม่ควรไปผสมโรงด้วยเด็ดขาด เพราะคุณจะไม่มีทางรู้เลยว่าคนอื่นๆ ในร้านขณะนั้นคิดอะไรกันอยู่ และคำพูดโต้ตอบจากคุณแบบไหนที่อาจจะไปสะกิดต่อมจากลูกค้าได้ ดังนั้นค่อยๆ เลี่ยงประเด็นไปเรื่อยๆ หากบทสนทนาดูจะเป็นด้านลบซะเหลือเกิน ก็ค่อยๆ ดึงบทสนทนาให้ไปด้านบวก
เทคนิคที่ 5 อย่าลังเลที่จะถาม Feedback
เมื่อทำผมเสร็จแล้ว อย่ารอช้าที่จะถามความพึงพอใจจากลูกค้าว่ารู้สึกอย่างไรกับการตัดผมหรือทำสีผมในครั้งนี้ เพราะหากลูกค้ายังไม่พอใจนี่ถือเป็นโอกาสในการแก้ตัวของคุณก่อนที่ปัญหาใหญ่จะเกิด ลองนึกภาพปล่อยให้ลูกค้ากลับไปพร้อมความอึดอัดแบบไม่ทำอะไรดูสิ รับรองว่าชั่วโมงต่อมาโพสต์ระบายลงโซเชียลพร้อมชื่อร้าน หรืออย่างเลวร้ายคือเว็บบอร์ดสาธารณะงานนี้ล่ะก็บอกได้เลยว่าเสียหายหนักแน่นอน
เทคนิคที่ 6 รู้ว่าควรหยุดตรงไหน
ในการพูดคุย หัวใจหลักไม่ใช่แค่การรักษาบสนทนาให้ลื่นไหลเท่านั้น แต่ยังเป็นการรู้ด้วยว่าเมื่อไหร่ควรจะหยุด ลูกค้าบางคนชอบพูด ดังนั้นไม่ว่าคุณจะชักนำไปอย่างไรพวกเขาก็จะตอบโต้อย่างสนุกสนาน ในขณะที่ลูกค้าบางคนไม่ชอบพูด ก็ไม่ควรไปเซ้าซี้ และไม่ควรคิดมาก เพราะจริงๆ แล้วในใจลูกค้าอาจไม่มีอะไรเลย แค่เป็นคนพูดไม่เก่งเท่านั้น
6 เทคนิค นี้นอกจากจะสามารถใช้กับการให้บริการในร้านซาลอนและบาร์เบอร์แล้ว ยังสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจอื่นๆ ได้ด้วย เมื่อคุณพูดเป็น ภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นก็ย่อมดีตามมา ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในการประกอบธุรกิจเสริมสวยและความงามแบบนี้ ภาพลักษณ์ ความฉลาดคิด ฉลาดพูด เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการประชาสัมพันธ์ร้านเลยแม้แต่น้อย