อย่างที่เรารู้กันดีว่าผลข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีนโควิดนั้นทำให้เกิดอาการแพ้ หรืออาการข้างเคียงหลายรูปแบบ แต่ตอนนี้มีอาการใหม่ที่กำลังเป็นที่สนใจก็คือ อาการผมร่วงเป็นหย่อม อย่างรายของหนุ่มนักศึกษาคนหนึ่งที่ไปฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 2 มาแล้ว เกิดอาการผมร่วงรุนแรงจนหัวเกือบล้าน นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่เกิดอาการผมร่วงเป็นหย่อม หรือผมร่วงหนักจนไปร้องเรียนกับเพจเฟซบุ๊กดังๆ อีกหลายราย วันนี้ Hairworld Plus+ จะพาไปไขข้อสงสัยถึงสาเหตุของอาการผมร่วง พร้อมคำแนะนำวิธีดูแลตัวเองจากคุณหมอกันค่ะ
สาเหตุของอาการ “ผมร่วงเป็นหย่อม”
พญ.ชินมนัส เลขวัต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาวะผมร่วงเป็นหย่อมภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 อาจจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากวัคซีนนั้น ใช้กระบวนการที่เลียนแบบการสร้างภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้นอาจมีการกระตุ้นการเกิดภูมิคุ้มกันต้านตนเอง และเกิดปฏิกิริยาอักเสบที่บริเวณต่อมผม ทำให้ผมร่วงเป็นหย่อมได้ ซึ่งในปัจจุบันพบรายงานการศึกษาว่าผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อมที่กลับมาเป็นซ้ำหลังจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีความเป็นไปได้ที่โรคผมร่วงเป็นหย่อมจะเกิดขึ้นใหม่ หรือในผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อมที่เป็นมากอยู่แล้ว ก็จะเกิดมีอาการมากขึ้นหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนคล้ายคลึงกับผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว หลังจากมีการติดเชื้อโควิด-19 แต่ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานการศึกษาผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวมากพอที่จะสรุปผลได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อมที่เป็นน้อยไม่พบว่ามีอาการมากขึ้นภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ ยังพบว่าโรคผมร่วงเป็นหย่อมอาจเกิดภายหลังการฉีดวัคซีนอื่นๆ ได้ด้วย เช่น วัคซีนงูสวัด, วัคซีนไวรัส ตับอักเสบบีและวัคซีนโรคไข้สมองอักเสบเจอี โดยจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคผมร่วงเป็นหย่อมร่วมด้วย เช่น ปัจจัยทางกรรมพันธุ์, ความเครียด, การเจ็บป่วย, โรคภูมิแพ้, โรคไทรอยด์, โรคลูปัส, ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก, ภาวการณ์ขาดวิตามินดี
วิธีการดูแลและรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อมภายหลังการฉีดวัคซีน
การดูแลและรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อมภายหลังการฉีดวัคซีน หรือหลังการติดเชื้อโควิด-19 ควรจะรักษาตามมาตรฐานของการรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อม โดยการรักษาขึ้นกับขนาดพื้นที่ของผมร่วงที่ศีรษะ ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย มีผมร่วงเป็นหย่อมเพียงเล็กน้อย อาการผมร่วงอาจหายได้เอง หรือไปรับการรักษากับแพทย์เฉพาะทาง ด้วยการทายาสเตียรอยด์หรือฉีดยาสเตียรอยด์ที่ศีรษะร่วมกับการทายาไมน็อกซิดิล (Topical minoxidil) 2-5% วันละ 2 ครั้ง เพื่อกระตุ้นผมให้ขึ้นใหม่ สำหรับในผู้ป่วยที่มีอาการมาก มีผมร่วงทั่วศีรษะ หรือมีขนตามร่างกายร่วงด้วย ควรจะพบแพทย์เพื่อพิจารณาหาวิธีการรักษา เช่น การรักษาด้วยยาทาไดฟีนิลไซโคล, โพรพีโนนหรือ ยาทาดีพีซีพี หรือยาชนิดอื่นๆ ตามที่แพทย์เฉพาะทางพิจารณา นอกจากนี้ การรับประทานเหล็กและวิตามิน เช่น สังกะสี (Zinc), ไบโอติน (Biotin), วิตามินดี (Vitamin D) ยังไม่มีหลักฐานทางการศึกษาชัดเจนว่าจะมีส่วนช่วยรักษาในผู้ป่วยที่ไม่ได้มีภาวะขาดเหล็กหรือวิตามิน
รศ.นพ.รัฐพล ตวงทอง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันของโรคโควิด ส่งผลกระทบมากมายให้กับสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพจิตที่ย่ำแย่จากการวิตกกังวลและความเครียดที่มีมากเกินไป ย่อมส่งผลเสียตามมากับการใช้ชีวิตประจำวันของคนในสังคม โรคผมร่วงเป็นหย่อมเป็นอีกโรคที่มีความสัมพันธ์กับความเครียด การพักผ่อนน้อย การไม่สบายอื่นๆ นำมาก่อน เช่น ภาวะโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองอื่น ๆ อาทิ โรคเอสแอลอี (SLE), โรคไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น โรคผมร่วงเป็นหย่อม เกิดจากการที่เม็ดเลือดขาวของคนไข้มาทำลายรากผม ทำให้ผมหลุดร่วงเป็นหย่อม อาจจะเริ่มจากหย่อมเดียว (Alopecia Areata) กระจายหลายๆ หย่อม (Multiple Alopecia Areata) ผมร่วงทั้งศีรษะ (Alopecia Totalis) หรือมีขนตามร่างกายร่วงทั้งหมด (Alopecia Universalis) สาเหตุของการเกิดโรคเชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เม็ดเลือดขาวซึ่งเดิมมีหน้าที่ทำลายเชื้อโรคต่างๆ กลับมาทำลายเซลล์รากผมของคนไข้เอง
สำหรับ โรคผมร่วงเป็นหย่อม สามารถเกิดได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โอกาสพบได้ประมาณ 1 ใน 1,000 ของจำนวนประชากร ซึ่งการวินิจฉัย ตามปกติโรคนี้สามารถวินิจฉัยได้จากอาการแสดงทางคลินิก คือ มีผมร่วงเป็นหย่อม ลักษณะของผมร่วงเป็นผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น (Non-scarring alopecia) อาจมีหย่อมเดียว หลายหย่อม ทั่วทั้งศีรษะหรือมีขนคิ้ว ขนตา ขนรักแร้ ขนตามตัวต่าง ๆ ร่วงด้วยก็ได้ ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องได้รับการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อยืนยันการวินิจฉัยด้วย โดยการดำเนินโรคส่วนหนึ่งสามารถหายขาดได้ ส่วนหนึ่งจะเป็นเรื้อรังและอีกส่วนหนึ่งจะไม่หายถึงแม้ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่แล้ว
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก siamrath.co.th