ในช่วงที่โควิด-19 ยังไม่หมดไปเช่นนี้ หลายคนก็คงได้รับผลกระทบกันหลายๆ ด้าน และเจอกับปัญหามากมาย แต่ก็อย่าเพิ่งท้อแท้หรือหมดกำลังใจกันไป และขอให้มองมุมบวกกันไว้มากๆ เพราะ “ความลำบาก” ไม่ได้เป็นอุปสรรคในชีวิต แต่เป็น “บทเรียนชั้นดี” ที่ทำให้เราเข้มแข็ง พร้อมสู้กับปัญหาใหญ่ๆ ในชีวิตได้ต่อไป อย่างเช่นเรื่องราวของช่างผมสาวสุดสตรองที่ Hairworld Plus+ คัดมาฝากกันในฉบับนี้ “คุณต้อม-ณิกฤชา พัฒนะภาศิริ” แห่ง The SIT Salon ผู้ชนะการประกวด Shaping Authentic Beauty Congress Thailand 2018 หรือ SAB Thailand 2018 ของชวาร์สคอฟ โปรเฟสชั่นแนล (ประเทศไทย) SKP Color Technician ช่างผมสาวสุดสตรอง ที่ผ่านประสบการณ์ความยากลำบาก จากลูกสาวแม่ค้าขายของริมถนน ชีวิตที่มีแต่หนี้สิน ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง แต่เธอสู้ไม่ถอย ทำให้ชีวิตที่ “ติดลบ” ถูก “เติมเต็ม” กลายมาเป็นเจ้าของกิจการและมีอนาคตที่สดใสอย่างทุกวันนี้ มาติดตามเรื่องราวสู้ชีวิตของเธอพร้อมๆ กัน
ชีวิตช่วงโควิดที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง?
ตอนนี้ก็ถือว่าดีขึ้นนะคะ แต่ถ้าปีที่ผ่านมาก็ค่อนข้างหนัก แต่ว่าวิกฤตนี้ทำให้เราคิดอะไรได้เยอะเลย หลายอย่างเลย ทำให้เรารู้ว่าชีวิตมันไม่มีอะไรแน่นอน ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา วันนี้มีงานทำพรุ่งนี้อาจจะไม่มีก็ได้ ทำให้เรารู้สึกว่าทำใจ ถ้าในอนาคตข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องยอมรับในสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นให้ได้ ก็คือเป็นพิษวิกฤต แต่ว่าถ้าเรามองในมุมดีไหมมันอยู่ในตัวเหมือนกัน
ถ้าพูดถึงวิกฤตโควิดอาจจะดูเล็กไป เมื่อเทียบกับสิ่งที่ผ่านมาในอดีต
ใช่ค่ะ เราเคยลำบากมากกว่านี้ ภาพความทรงจำเท่าที่จำได้เลยเกิดมาก็คือบ้านเราไม่มี ไม่ได้หมายถึงเรานอนใต้สะพานลอยไม่ใช่นะ คือเราไม่เคยมีบ้าน ไม่เคยรู้สึกว่าคำว่าบ้านคืออะไร เพราะเราอยู่แฟลตมาตลอด แฟลตกับอพาร์ทเมนต์ไม่เหมือนกันนะ อพาร์ทเมนต์สมัยก่อนนี่คือหรูมาก ถามว่าลำบากไหมก็ถือว่าลำบาก คือเวลาเราไปเรียน เราก็ต้องรีบกลับมาช่วยแม่ขายของ ขายของเนี่ยเราอยู่กับแม่แค่ 2 คน แม่ก็เลี้ยงเราอยู่แค่ 2 คน พ่อก็ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ชีวิตช่วงเด็กๆ เหมือนกับมันเป็นแพทเทิร์นชีวิต มันก็ต้องตามแพทเทิร์นไป แต่ถามว่าในความเป็นเด็กอยากไปเดินเล่นห้างกับเพื่อนบ้างอะไรอย่างนี้ สมัยก่อนต้องพาต้าปิ่นเกล้า เราก็อยากไปเดินเล่นกับเพื่อนบ้าง แม่ก็แบบเลิกเรียนแล้วรีบกลับมาช่วยแม่นะ เราก็ต้องรีบกลับกลับมาช่วยแม่ แล้วต้องใส่ผ้าเอี๊ยม จริงๆ เราก็อายนะ เพราะโรงเรียนจะอยู่ฝั่งตรงข้ามที่เราขายของ ช่วงเย็นก็จะมีเด็กนักเรียนเดินกลับ แล้วเราก็เขินนะ คือตอนนั้นยังเด็กคือมันจะอายไง อายการขายของ แล้วก็อายที่ต้องใส่ผ้าเอี๊ยมกันเปื้อน ต้องช่วยแม่ขายของ เป็นลูกแม่ค้าอยู่ริมถนน
ใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่นานไหม?
ค่อนข้างนานนะคะ ก็จนจบ ม.6 เลยค่ะ จบแล้วก็ยังขายของอยู่ แต่ว่ามันก็มีเรื่องราวอะไรต่างๆ เพราะคนเป็นแม่ค้าก็จะมีหนี้รายวัน บางวันมีคนมาทวงหนี้ เราก็ต้องมาทนเห็นภาพที่มีคนมายืนด่าแม่เรา ตอนนั้นเหมือนอะไรแทงใจเราเลยนะ รู้สึกไม่อยากให้ใครมาว่าแม่เราเลย แต่ตอนนั้นก็อยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถช่วยอะไรเขาได้ จนสุดท้ายแล้วแม่ก็เปลี่ยนอาชีพขายผลไม้ ก็เรียกว่ากู้ชีพเลย ขายผลไม้ ชีวิตดีขึ้นเพราะแม่ไม่มีหนี้แล้ว เขาก็เริ่มขายผลไม้ กำไรที่ได้ก็ส่งคืนคนที่เราติดหนี้อยู่ แล้วมันก็เริ่มดีขึ้นด้วยตรงที่เราเริ่มทำงานแล้ว
พบจุดเปลี่ยนในชีวิต กับการเลือกเดินสายอาชีพช่างทำผม
พอจบ ม.6 แล้วก็เรียนรามค่ะ ตอนนั้นเป็นช่วงเปลี่ยนของชีวิต เพราะแม่เขาก็เริ่มอยากให้เราเรียนสายอาชีพสักอย่าง ตอนแรกเลยอยากให้เรียนทำผม เพราะว่าเขาเคยอยู่ร้านทำผมมาก่อน แต่เราไม่ชอบงานนี้ คือมุมมองแคบไง ไม่ได้รู้เรื่องอะไรว่าช่างทำผมเขามีรายได้อะไรยังไงบ้าง เรามองแค่ว่าช่างทำผมก็นึกภาพร้านเล็กๆ แล้วเราก็แบบอุ๊ยไม่เก๋อะ เราอยากทำงานบริษัทมากกว่า แต่แม่ก็พยายามโน้มน้าวเรา แม่เขาก็บอกว่าเรียนอาชีพสักอย่างเถอะ ถ้าแม่ตายแล้วใครจะส่ง คำนี้จำมาติดสมองเลย เราก็เลยได้คิด เพราะทุกวันนี้เราก็ไม่ได้มีเงินมากมาย ถึงจะใช้หนี้หมดแล้วรายได้มันก็ไม่ได้เยอะมาก เราก็เลยแม่บอกให้เลือก 2 อย่าง เรียนทำผมกับเย็บผ้า เย็บผ้ามีจักรตัวเดียวหน้าบ้านก็ได้ตังค์แล้วนะ แม่พูดอย่างนี้ ต้องเย็บริมถนนอีกแล้วเหรอ แล้วเราก็มีภาพจำเราอายการทำงานริมถนนอะไรพวกนี้ เราไม่เอา ทำผมแล้วกันแม่ แต่ทีนี้เราไม่มีตังค์ แม่ก็เลยให้ไปเรียนศูนย์ฝึกอาชีพก่อน แม่บอกให้ไปเรียนฟรีก่อน เพราะว่าถ้าลงทุนแล้วไม่ชอบขึ้นมา มันไม่คุ้ม
ช่วงแรกที่ไปเรียนก็มีท้อบ้าง ต้องฝึกม้วนแกน 1 ชั่วโมง แกนเดียว ท้ออยู่นะ คิดว่าทุกคนจะต้องมาเจอสภาวะนี้ คือมันมันไม่ใช่เรื่องง่าย วันแรกก็คือแบบรู้สึกสงสัยไม่ใช่อ่ะ แต่ก็ลองแล้วก็พยายามอดทน ก็ไปเสาร์อาทิตย์ก็ไป ไปเสร็จกลายเป็นแบบเออทำไปทำมามันก็ได้ แล้วพอดีช่วงนั้นเจอวิกฤตชีวิตตัวเอง มีแฟนแล้วก็เลิกกับแฟน มันเสียใจมากแล้วก็รู้สึกไม่อยากเรียนหนังสือแล้ว ขอแม่ไม่เรียนได้ไหม ส่งเรียนทำผมได้ไหม แม่ก็บอกว่าได้ เราก็เลยตัดสินใจไปเรียนที่โรงเรียนเกศสยามจนจบค่ะ
ชีวิตการเป็นช่างผมช่วงแรกๆ เป็นยังไงบ้าง?
เรียนจบเกศสยามมาแล้วก็เริ่มหางานทำ ไปสมัครเป็นผู้ช่วยช่าง ร้านตรงข้ามเซ็นทรัลปิ่นเกล้า เริ่มต้นจากการเป็นช่างสระไดร์มาก่อน เมื่อก่อนตัดผมน่าจะได้ประมาณ 120 บาท แต่ไดร์ผมได้ครั้งนึงได้ 3 บาท ตอนนั้นก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้น คือ เวลามีลูกค้ามาเขาก็จะหาคนไดร์ผม แต่พวกเด็กๆ ยังไม่มีใครลุกไป เขาก็แบบว่าไม่มีใครลุกมาเลยหรอ 3 บาทนี่คือไม่ได้อยากได้กันแล้วเหรอ พูดเสียงดังมากแล้วลูกค้านั่งอยู่เต็มเลย ตอนนั้นเรายังเด็กมันก็เซนซิทีฟไง รู้สึกว่าไม่พอใจแล้วไม่อยากอยู่ละ แต่จริงๆ ไม่ได้โกรธร้าน ร้านนี้ดีมากทำให้เราไดร์ผมเป็น แต่ก็ตัดสินใจออกมาเลยพร้อมกับเพื่อน ตอนนั้นยังตัดผมไม่เป็นเลยด้วยซ้ำ สุดท้ายเราก็มาทำงานร้านเพื่อน เริ่มตัดผมได้บ้างแล้ว แต่ทำอยู่พักนึงแล้วก็เปลี่ยนร้าน พยายามหาร้านใหม่ จนได้มาทำงานอยู่ร้านแถวๆ งามวงศ์วาน
หลังจากที่ยึดอาชีพช่างผมจริงจัง เริ่มมีเงินกลับไปดูแลคุณแม่มากขึ้น คุณแม่รู้สึกยังไงบ้าง?
เขาก็ดูเหนื่อยน้อยลงนะคะ เราพยายามบอกแม่ว่าขายของ เพราะมันไม่มีหนี้อะไรแล้ว เดี๋ยวเราให้เอง ก็เลยย้ายที่พักบอกแม่ไปอยู่อพาร์ทเมนต์เถอะ แต่ก็ตามประสาคนแก่ คุณแม่ก็จะชอบหาของไปขายตามตลาดนัด เพราะไม่อยากอยู่เฉยๆ คือแม่เป็นตัวอย่างให้เราเห็นเลยกว่า มนุษย์คนนึงเกิดมาแล้ว ไม่ว่าจะแก่แค่ไหน อย่าได้หยุดทำอะไร เพราะว่ามันไม่มีค่า ชีวิตมันจะไร้ค่า
พบกับบททดสอบชีวิตครั้งใหญ่
หลังจากที่เราย้ายมาอยู่กับแฟนแถวสะพานใหม่ คุณแม่เลยย้ายไปอยู่กับพี่สาว มาหาเราบ้างวันหยุดเราก็ไปหาบ้าง จนมีวนนึงพี่สาวก็โทรมาบอกว่า แม่เดินไม่ได้ ตอนนั้นไม่เชื่อนะ คือตอนแรกเขาบอกไม่สบายก่อนเลย เราก็คิดว่าคงไม่เป็นไร เดี๋ยววันหยุดค่อยไปหา เสร็จแล้วพอเราไปเห็นตกใจมาก สภาพแม่คือแบบคือเขาเดินไม่ได้จริงๆ ครึ่งตัวเลยค่ะ แม่ก็เล่าให้ฟังว่าอยู่ดีๆ ตื่นเช้าขึ้นมาก็เหมือนกับแบบลุกไม่ขึ้น เลยพาไปโรงพยาบาล หมอก็ตรวจเสร็จสรรพเรียบร้อยก็เรียกลูกไปทุกคน ใจเราแบบต้องมีอะไรแน่ๆ เลย คุณหมอก็บอกว่าคุณแม่จะอยู่อีก 6 เดือนเท่านั้น เพราะเป็นมะเร็ง ยังไม่รู้ว่าจากที่ไหน แต่ตอนนี้กระดูกพรุนไปหมดแล้ว คอก็ต้องใส่ตัวล็อคคอไว้ คือให้นึกถึงขาโต๊ะที่มีปลวกค่ะ ถ้าเคาะที่เดียวก็คือหักเลย คือตอนนี้ทั้งร่างกายของเขาก็คือมะเร็งทั่วร่างกายไปหมดแล้ว ทั้งที่ไม่มีอาการอะไรเลย
มีผลสำเร็จอะไรให้แม่เห็นไหมในช่วง 6 เดือน
ช่วงนั้นยัง ยังไม่เท่าไหร่ค่ะก็ยังเป็นช่างอยู่ที่ร้านของคนอื่น คือจริงๆ แล้วแม่เขาก็คงภูมิใจแล้วแหละว่าเรามีงานมีการทำ แล้วก็เห็นเรามีแฟนคนนี้แบบ คือเขาก็ไว้ใจว่าคนนี้ต้องดูแลลูกเราได้แน่ และคำนึงที่เขาพูดตอนที่นอนอยู่โรงพยาบาล เขาบอกว่าแม่ไม่ห่วงอะไรละ เหลืออย่างเดียวที่แม่ยังไม่ได้ก็คือ ไม่ได้เห็นหน้าหลานอย่างเดียว แล้วเขาก็ไม่ได้เห็นจริงๆ เขารักเรามากไง เราเป็นลูกคนเดียวที่อยู่กับเขา เขาดูแลมาตลอด เรารู้สึกว่าทุกอย่างมันทำเต็มที่ให้เขาหมดแล้ว ไม่เคยเสียใจจะให้ย้อนเวลากลับไปวันนี้แม่เดินไม่ได้ นี่คือแบบธาตุแตกแล้วได้เช็ดขี้เช็ดเยี่ยวแม่หมดเลย เรารู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่ได้รู้สึกผิดอะไร เพราะเราทำกับพ่อกับแม่หมดแล้ว ดูแลเขาอย่างดีไม่ห่างเขาตลอด
รู้สึกยังไงบ้างกับอาชีพช่างผม ที่คุณแม่ชี้แนะแนวทางไว้ให้
ทุกวันนี้ไม่ว่าเราจะได้รางวัลอะไรมา เวลาเห็นรูปแม่ที่แขวนไว้ เราจะมอง แล้วก็จะพูดว่าเห็นไหมแม่ ต้อมทำได้แล้ว หรือแบบคุยกับเขาในใจ เราเชื่อมั่นว่าคุณแม่ต้องภูมิใจแน่นอน
ตอนนี้ได้เป็นเจ้าของร้าน The Sit salon ช่วยเล่าที่มาที่ไปให้ฟังหน่อย?
หลังจากที่เราทำงานอยู่ร้านกาโม่มาระยะนึงก็มีโอกาสได้มาทำที่ร้านชลาชล อยู่มา 12 ปี ซึ่งภูมิใจมากที่ได้ทำงานที่นี่ เป็นที่ที่หล่อหลอมเรา สร้างให้เรามีทุกวันนี้ ต้องขอบคุณชลาชลมาก ช่วงก่อนที่จะลาออกมาเปิดร้านของตัวเองก็ได้คุยกับแฟนว่าถ้าเป็นลูกน้อง อายุ 40 แล้วคือไม่ออกแล้วนะอยู่ต่อไปเลยยาวๆ แล้วก็แก่เลยเก็บเงินก้อนนึง กับอีกอย่างหนึ่งก็คือ ออกไปสร้างเนื้อสร้างตัว เพราะว่าถ้ามันเลย 40 ไปแล้วอ่ะไม่มีไฟละ ก็เลยคุยกันกับแฟนว่าเอายังไงดี มันก็เลยจบตรงที่โอเคเรามาเปิดร้าน เราอยากเอางานดีๆ ไปนำเสนอคนข้างนอกบ้าง ไม่ต้องขึ้นห้างก็ได้นะ เลยมาเป็นร้าน The Sit Salon อย่างทุกวันนี้ แล้วตอนนี้ก็เริ่มทำเกี่ยวกับขายหัวหุ่นผมแท้ด้วยค่ะ เราเป็นช่างเรารู้ว่าการตัดผมจริงกับของปลอมเป็นยังไง เลยอยากให้ช่างผมได้ใช้ของดีๆ ในราคาไม่แพง ก็เป็นช่วงกำลังเริ่มต้นอยู่ค่ะ
รู้สึกยังไงบ้างตอนนี้ ถ้าพูดถึงความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาในชีวิตของเรา
อยากขอบคุณอะไรหลายๆ อย่าง ขอบคุณความยากลำบาก ขอบคุณที่เรามีชีวิตนั้นตอนเด็กแบบที่ผ่านมา ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีพลังในการทำให้ตัวเองดีขึ้น เราจะไม่ทะเยอทะยาน เราจะไม่ตั้งใจ เราจะไม่ขยันขนาดนี้ และบุคคลสำคัญที่อยากขอบคุณก็คือคุณแม่ ขอบคุณที่ทำให้รู้ว่าเราควรจะไปทางไหน เพราะว่าในยุคก่อนการเรียนมันไม่ได้บอกว่าเด็กๆ ควรจะไปทางนี้ หรือมีอาชีพอื่นอีกแล้วไม่รู้จัก คืออยากขอบคุณคุณแม่ที่ทำให้เราเป็นแบบนี้ หล่อหลอมให้เราเป็นทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจ ความไม่ย่อท้อ ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไร เราไม่เคยล้มไม่เคยจม เพราะเรารู้จักทำมาหากิน แล้วก็ขอบคุณที่คุณแม่ชี้แนะให้รู้จักอาชีพช่างผม ถ้าไม่ใช่คำนั้นที่เขาพูด เราก็คงยังไม่ได้มาเป็นช่างทำผม
อยากบอกอะไรกับช่างผมรุ่นน้องๆ บ้าง
ในส่วนตัวแล้วจะมีคติประจำใจเลยก็คือ หนึ่ง เราต้องจริงใจ จริงใจกับอาชีพตัวเอง และจริงใจกับลูกค้านะคะ แล้วก็มีความตั้งใจ มุ่งมั่นในการทำงาน ต้องทำให้มันเต็มที่ อาชีพทำผมเนี่ยมันไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าจะประสบความสำเร็จ กว่าจะเก่งกว่าจะอะไร มันมีรายละเอียดลึกๆ อะไรอีกเยอะเลยค่ะ ในเมื่อเราก้าวเข้ามาในอาชีพนี้แล้ว เราก็ต้องทำให้มันเต็มที่ค่ะ
จากเรื่องราวชีวิตของ “ต้อม-ณิกฤชา พัฒนะภาศิริ” ตั้งแต่บรรทัดแรกจนถึงบรรทัดสุดท้าย คงเป็นสรุปให้เราเห็นแล้วว่า ความมุ่งมั่นตั้งใจ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และพร้อมสู้ทุกปัญหา ย่อมนำพาชีวิตเราไปสู่เส้นทางที่สดใสได้เสมอ Hairworld Plus+ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านวิกฤตโควิด และปัญหาชีวิตต่างๆ ไปได้อย่างเข้มแข็ง
ส่วนใครที่อยากได้แรงบันดาลใจและกำลังใจดีๆ จากเหล่าช่างผมชื่อดัง ติดตามชมคลิปรายการ The Inspire ย้อนหลังได้ทางเว็บไซต์และช่อง YouTube Channel ของ Hairworld Plus+