“ธุรกิจร้านเสริมสวย” ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สาวๆ หลายคนอยากเปิดเป็นธุรกิจส่วนตัว ไม่ก็เปิดเพื่อหารายได้เสริม ส่วนหนึ่งมาจากผู้หญิงต้องบริหารเสน่ห์ บริหารความสวย ปรับลุคให้ดูดี จนต้องพาตัวเองเข้าไปใช้บริการบ่อยๆ อย่างน้อยที่สุดต้องมีเดือนละครั้งบ้างล่ะ ได้เข้าไปเห็นกระบวนการ เห็นวิธีการทำงานของช่าง ยิ่งคนที่ชื่นชอบและสนใจเรื่องความสวยความงามเป็นพิเศษ ไปใช้บริการตามร้านบ่อยๆเข้า แล้วไปศึกษา ทำความเข้าใจ เรียนรู้เพิ่มเติมทั้งด้านวิชาชีพช่างเสริมสวย Update Trend Fashion เป็นทุนเดิม พ่วงกับความรู้ด้านบริหาร ก็ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นความชื่นชอบส่วนตัวจนอยากเปิดร้านเสริมสวยเป็นของตัวเองและกลายเป็นเจ้าของธุรกิจไปด้วยซะเลย
แต่เมื่อขึ้นชื่อว่า “ธุรกิจ” เราจะสนใจแต่การเปิดร้านที่เกิดจากความชอบของเราเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะทุกธุรกิจที่เกิดขึ้นต้องเลี้ยงตัวเองให้อยู่รอด และต้องเลี้ยงผู้ร่วมธุรกิจ อย่างหุ้นส่วนร้าน แม้กระทั่งลูกจ้างให้อยู่รอดด้วย ถึงจะเรียกว่าเป็น “การทำธุรกิจ” ได้สมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน สุดท้ายแล้ว “กำไร” จะเป็นคำตอบได้ดีที่สุดว่าธุรกิจที่ทำอยู่จะได้ไปต่อหรือไม่ ไปต่อได้ไกลแค่ไหน คุ้มค่ากับการลงเงินทุนก้อนแรก และคุ้มกับความเสี่ยงรึเปล่า? นี่คือสิ่งที่คนทำธุรกิจต้องคิดและตอบคำถามพวกนี้ให้ได้อยู่ตลอดเวลา
Beauty Biz by Hairworld+ จึงนำ Tricks การลงทุนธุรกิจเสริมสวยอย่างไรให้คุ้มค่า เป็นแนวทางให้กับผู้ที่สนใจลงทุนด้านนี้ไปตรวจสอบทำการบ้านเพิ่มเติม เพิ่มความมั่นใจว่าทุกเม็ดเงินลงทุนที่เสียไป เจ้าของธุรกิจไม่คิดเสียดาย เพราะได้สร้างความคุ้มค่า และมี Return กลับมาได้อย่างเหมาะสม ท่ามกลางธุรกิจร้านเสริมสวยที่มีมากกว่า 200,000 ร้าน กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย และตลาดนี้ก็เป็นที่น่าสนใจในหมู่ผู้ประกอบการทั้ง SMEs และรายใหญ่
1. กำหนดขอบเขตการให้บริการ
ด้วยเพราะร้านเสริมสวยมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำผม แต่งหน้า นวดหน้า ขัดหน้า ดูแลผิวพรรณ ทำเล็บ และ Option อื่นๆ อีกจิปาถะ เมื่อ Scope ได้แล้ว ทีนี้มาดูว่าเรา Control ไหวมั้ย อย่าเพิ่งไปคิดข้าม Step ว่ายิ่งให้บริการครบทุกฟังก์ชัน ครอบคลุมความสวยตั้งแต่หัวจรดเท้าแล้วจะมีผลดีต่อจำนวนลูกค้าและรายได้ จนลืมคำนึงถึงองค์ประกอบอื่นๆ โดยเฉพาะต้นทุนค่าอุปกรณ์แบบจัดเต็มครบครัน ไหนจะค่าจ้างของลูกจ้างที่ต้องจ่ายมากขึ้นตามจำนวนลูกจ้างที่จ้างมา และจ่ายต่อหัวสูงกว่า Rate ปกติ เพราะบวกค่าทักษะที่ต้องให้บริการหลายอย่าง ถ้ามองว่ายังไม่อยากแบกรับภาระตั้งแต่เริ่มต้น และยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะคืนทุนได้เร็วหรือไม่ ก็ควรมุ่งไปสิ่งที่เราสนใจ ชื่นชอบ และถนัดมากกว่าไปก่อน จะได้เป็นประโยชน์ในการคิดรูปแบบ, กลยุทธ์การตลาดอื่นๆ ต่อไปได้ง่าย และที่สำคัญเพื่อกำหนดอุปกรณ์ที่จำเป็นจริงๆ แถมงบตั้งต้นยังไม่บานปลายอีกด้วย
2. รู้จักธุรกิจให้ลึกมากพอ ให้ลึกชนิดที่ว่ารู้ทุกขั้นตอนของการให้บริการ
เปรียบเสมือนเป็นทั้งผู้บริหารร้านที่สามารถดูแลการบริหารหลังร้านได้ดี แล้วยังเป็นช่างที่จัดการหน้าร้านได้อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยเพราะเป็นธุรกิจที่ต้องใช้วิชาชีพและประสบการณ์การทำงานเฉพาะด้าน หากเรารอบรู้และลงมือทำเป็นในทุกตำแหน่งในร้าน ก็จะทำให้เราไม่เสียค่าโอกาสและทำให้การดำเนินการภายในร้านไม่หยุดชะงัก หากคิดเผื่อไปถึงกรณีที่ลูกจ้างขาดแคลน เราที่เป็นเจ้าของก็ลงมือให้บริการลูกค้าได้ทันที
3. การลงทุน : งบตั้งต้นพ่วงค่าใช้จ่าย
3.1 ค่าใช้จ่ายพนักงาน ก่อนจะไปถึงขั้นนั้น กลับต้องให้ความสำคัญในการเลือกช่างมาร่วมงานกับเราก่อน ช่างฝีมือดี มีใจรักการให้บริการค่อนข้างหายาก และมีอัตราการเปลี่ยนงานสูง ความสวยความงามต้องใช้อารมณ์ศิลปะมากเป็นพิเศษ มีผลต่อการควบคุมคุณภาพงานให้ดีเสมอต้นเสมอปลาย แต่ถ้าคุณภาพงานไม่สม่ำเสมอ เราก็เสียลูกค้าไปง่ายๆ เช่นเดียวกัน สู้ลงทุนกับช่างมีคุณภาพไปเลยทีเดียว ดีกว่ามาแก้ปัญหาเรื่องบริหารคนยิบย่อยภายหลัง การลงทุนกับคนจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม อยากให้คิดเผื่อกรณีบางเดือนลูกค้าเข้าร้านน้อย หรือเพิ่งเปิดร้านช่วง 3-4 เดือนแรกลองตลาด แล้วลูกค้าบางตาไปหน่อย แม้กระทั่งธุรกิจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจซบเซายาวนาน การคิดเผื่อระยะยาวไว้ให้มากๆ วางแผน 2 ไว้ เมื่อเกิดเหตุการณ์จะได้พร้อมรับมือและบริหารเงินหน้าตักไว้ได้ทัน
3.2 ค่าอุปกรณ์เครื่องมือและค่าตกแต่งร้านเสริมสวย การเสริมสวยนั้นจะมีอุปกรณ์หลายสิ่งอย่างและอุปกรณ์แต่ละอย่างที่คุณภาพดี แข็งแรงทนทาน การใช้งานเอนกประสงค์ก็ค่อนข้างแพงอีกด้วย สิ่งที่ต้องคิด คือถ้ามีเงินพอที่จะซื้ออุปกรณ์ทุกอย่างแล้ว ต้องคิดต่อว่าเราจะได้กำไรจากการเปิดร้านเท่าไหร่ นั่นจะประมวลผลได้ว่าคุ้มค่าไหมกับการซื้ออุปกรณ์ทุกอย่างเพื่อเปิดร้านเสริมสวย ศึกษาราคาของอุปกรณ์ไปแล้ว อย่าลืมตั้งงบประมาณเกือบครึ่งหนึ่งมาปรับปรุงแต่งเติมร้านให้พร้อมบริการลูกค้า เช่น ติดกระจกบานใหญ่ เดินสายไฟให้ร้านดูสว่างไสว ข้าวของเครื่องใช้ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ตู้
3.3 สภาพคล่องของเงินทุนหมุนเวียนในระบบ เงินที่หยิบออกมาใช้จ่ายได้ทันที เช่น หากเปิดร้านทำผม ก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ไม่ว่าจะเป็นครีมนวด, แชมพู, น้ำยาดัดผม เป็นต้น หากใช้หมดต้องมีพร้อมสำรองไว้ตลอดเวลา รวมไปถึงค่าน้ำค่าไฟ และอื่นๆ อีกมากมาย
3.4 ลงทุนกับทำเลร้าน ถ้าทำเลร้านไม่ดีสิ่งที่ทำมาอาจเป็นศูนย์ แต่เมื่อมีทำเลที่ดี ก็จะทำให้มีรายได้อยู่สม่ำเสมอ เลือกที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ที่หาได้ง่ายหรือเป็นจุดสังเกตได้ชัดเจน แหล่งที่คนพลุกพล่านอยู่ตลอดเวลา รอบๆ ร้านมีสิ่งอำนวยความสะดวกกระตุ้นให้คนเห็นความจำเป็นและมาที่แห่งนั้นบ่อยๆ ที่เหลือนั้นเป็นการสร้างจุดสนใจให้ลูกค้าเห็นร้านและอยากเข้ามาใช้บริการ และถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ทำเลร้านทำให้เราคัดกรองกลุ่มเป้าหมายได้ เพื่อเป็นการบอกตัวเองว่าจะบริการลูกค้าในย่านนั้นแบบใด แต่ทำเลที่ตั้งที่ดี ย่อมแลกมากับอัตราค่าเช่าที่สูง เป็นภาระต่อผู้ประกอบการไม่น้อยเลยทีเดียว
4. การตั้งราคาค่าบริการให้คุ้มค่า และ Win-Win ทั้ง 2 ฝ่าย
คิดในฐานะที่เราเป็นผู้ใช้บริการบ้าง ถ้าราคาสูงเกินความเหมาะสม เราอยากจะเข้าไปใช้บริการหรือไม่? ถ้าตั้งราคาที่สูงมากเกินไปลูกค้าก็จะไม่ค่อยอยากที่จะเข้าร้าน จะต้องเข้าใจว่าลูกค้ามีหลายประเภท ฐานะไม่เท่ากัน จะต้องตั้งราคาที่เหมาะสมเพื่อที่คนทุกฐานะสามารถเข้ามาใช้บริการได้โดยไม่ต้องคิดมาก ซึ่งราคากลางๆ นั้น ส่วนใหญ่สามารถยืดหยุ่นได้บ้างในบางครั้ง หรือจะตั้งราคาโดยเริ่มจากคำนวณความเหมาะสมกับทำเลที่ตั้ง, ต้นทุน ที่ต้องไม่แพงกว่าร้านเสริมสวยในย่านเดียวกัน ควรถูกกว่าหรือไม่เกินกันมาก แต่เน้นบริการที่ประทับใจ ส่วนการทำป้ายบอกรายละเอียดราคาที่แจ้งหน้าร้านก็ต้องตรงกับตัวเลขที่เก็บตามจริง ไม่มีมาบวกเก็บยิบย่อยเอาภายหลัง
5. ลงทุนกับการสร้างความประทับใจ
ปัจจุบันร้านตัดผมมีจำนวนมาก ดังนั้นการแข่งขันจึงสูง วิธีเอาชนะคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน คือต้องสร้างฐานลูกค้าให้มากที่สุด เพราะลูกค้าคือต้นกำเนิดของรายได้และกำไร การลงทุนด้านนี้เพื่อให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการอีก จากลูกค้าขาจรกลายเป็นลูกค้าขาประจำ เพราะลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ แต่ละคนมีความต้องการความสวยที่แตกต่างกัน ถ้ารับมือกับลูกค้าได้ทุกรูปแบบ และมีลูกค้าติดใจในฝีมือ ต้องใช้ความจำ การใส่ใจ Detail เล็กน้อยของลูกค้า ลงทุนเรื่องความสะอาดของร้าน, วัสดุอุปกรณ์ แม้กระทั่งการปรับลุคของช่างเสริมสวยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับ Mood & Tone ร้าน ดูเรียบร้อยพร้อมให้บริการ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ และกลับมาใช้บริการอีก
6. ลงทุนกับความรู้ มีความคิดสร้างสรรค์ด้านกลยุทธ์การตลาด
การเรียนรู้และพัฒนาตัวเองไม่มีวันสิ้นสุด แม้กับการทำธุรกิจร้านเสริมสวย ที่ต้องลงทุนกับทักษะวิชาชีพ สั่งสมประสบการณ์ หาโอกาสเข้าคอร์สเรียนจากสถาบันที่มีชื่อเสียง ต้องอัพเดตพัฒนาฝีมือให้ทันแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เหล่านี้จะทำให้ลูกค้ามั่นใจในศักยภาพการให้บริการของร้านมากขึ้น พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนด้านความงามในสาขาอื่นๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่เดิม ให้ได้มีช่องทางขยายการให้บริการด้านความสวยความงามได้ครอบคลุมและครบวงจร กระจายรายได้หลากหลายช่องทาง ทั้งนี้ ยังหมายรวมถึงการทำการตลาดใหม่ๆ รู้จักการปล่อย Promotion ได้ถูกจังหวะเวลา ดึงดูดลูกค้าให้กลับมาใช้บริการบ่อยๆ หรือต่อยอดไอเดียใหม่ๆ จากสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้กลายเป็นการประชาสัมพันธ์ร้านแบบเนียนๆ แต่เป็นการสร้างภาพจำให้กับร้านได้ดีทีเดียว อย่างการกันมุมใดมุมหนึ่งของร้าน ทำฉากโลโก้ร้านสวยๆ ไว้สำหรับลูกค้าที่ทำผมเสร็จให้ไปถ่ายรูป แฝงการโฆษณา Ad Promotion เรียกลูกค้าใหม่ กระตุ้นลูกค้าเก่าให้เข้ามาอีกก็ย่อมได้ เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องปลุกไอเดียไม่ซ้ำซากจำเจให้เกิดเป็นมูลค่าได้ในที่สุด
7. อนาคตธุรกิจร้านเสริมสวยกับความคุ้มค่าที่ไม่สิ้นสุด
ธุรกิจร้านเสริมสวยสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง เพราะหลายๆ คนใช้บริการหลายครั้ง ไม่ใช่ใช้บริการแค่ครั้งเดียว และยิ่งถ้ามีฝีมือลูกค้าก็จะติดใจเป็นลูกค้าประจำมากขึ้น และอาชีพนี้ยังเป็นอาชีพอิสระเมื่อมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ไปเรียนรู้เพิ่มเติมหลายๆ ปี ถือเป็นอาชีพที่สร้างเราเป็นอาจารย์ได้ในอนาคตอีกด้วย กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความงาม สอนคนอื่นให้เรียนรู้และทำอาชีพนี้ได้คล้ายๆ กับเปิดคอร์สสอนเอง เริ่มจากคอร์สเล็กๆ แล้วขยายเป็นสถาบันขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นข้อดีของการทำธุรกิจนี้ หากมุ่งมั่นและตั้งใจจริงความคุ้มค่าที่ได้ อาจมากกว่ากำไรที่เป็นตัวเม็ดเงินเสียอีก
นี่คือเคล็ดลับการปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้กับผู้บริหารธุรกิจร้านเสริมสวยประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ทั้งนั้นการลงทุนจะต้องคุ้มค่า อย่าสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ต้องรู้จนลึกว่าหว่านเงินลงทุนไปเท่านี้ จะได้ผลตอบแทนกลับมาแค่ไหน ลงทุนไปแล้วโอกาสคุ้มทุนมากน้อยอย่างไร การเป็น “เจ้าของธุรกิจ” ที่รู้จักวางแผน บริหารงานก่อนทำ จะทำให้ธุรกิจดูมีศักยภาพการเติบโตมากกว่าการอยู่รอดให้ผ่านพ้นไปวันๆ ผลพลอยได้จากส่วนที่เหลือนั้นคือความคุ้มค่าที่กลับเป็นแรงกระตุ้นสำคัญต่อการทำธุรกิจให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป