จากการผนึกกำลังของ 6 สมาคมช่างเสริมสวย เพื่อช่วยเหลือช่างทำผมและช่างเสริมสวยที่ต้องเผชิญปัญหาจากวิกฤตโควิดในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ สมาคมช่างผมมืออาชีพแห่งประเทศไทย สมาคมช่างผมเสริมสวยแห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมพัฒนาอาชีพเสริมสวยและช่างตัดผมไทย สมาคมวิชาชีพช่างทำผมไทย สมาคมเสริมสวยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เครือข่ายช่างผมเสริมสวยและความงามนานาชาติ จนมาถึงวันนี้ได้มีข่าวดีเกิดขึ้นแล้ว กับโครงการ “ช่างผมอุ่นใจ” โดยได้รับความร่วมมือจาก กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ UNDP โดยจะมีการเปิดโอกาสให้เจ้าของร้านทำผมขนาดเล็กทั่วประเทศได้เรียนรู้ถึงการดำเนินกิจการตามวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) การป้องกัน การใช้อุปกรณ์ที่ปลอดภัย รวมถึงมอบอุปกรณ์เพื่อใช้ในการประกอบกิจการแบบ New Normal ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ รวมทั้งฟื้นฟูอาชีพ และสร้างรายได้ให้อย่างยั่งยืน
สำหรับโครงการ “ช่างผมอุ่นใจ” ได้มีการแถลงข่าวเปิดโครงการเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ณ ห้องประชุมชั้น 2 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมี นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดโครงการ และมี นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Development Programme หรือ UNDP) และ ดร.ณรงค์ ศรีเกรียงทอง ประธานสมาพันธ์เครือข่ายช่างผมเสริมสวยและความงามนานาชาติ ร่วมแถลงข่าว โดยมี นางสาวอุษณี กังวารจิตต์ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นผู้กล่าวรายงาน และมีตัวแทนจากอีก 5 สมาคมช่างเสริมสวย ได้แก่ นายณัฐวัฒน์ ปิยะศิริภัณฑ์ นายกสมาคมช่างผมเสริมสวยแห่งประเทศไทย, นายอนันต์ เชียงสอน นายกสมาคมเสริมสวยแห่งประเทศไทย, นางสาวสมเพชร ศรีชัยโย นายกสมาคมส่งเสริมพัฒนาอาชีพเสริมสวยและช่างตัดผมไทย นางสาวกุลิสรา พานิช นายกสมาคมช่างผมมืออาชีพแห่งประเทศไทย และ อาจารย์ดุสิตา ศุภผลา อุปนายกสมาคมวิชาชีพช่างทำผมไทย เข้าร่วมงาน ซึ่งในงานยังมีการสาธิตทำผมและแฟชั่นโชว์ทรงผมรูปแบบต่างๆ จาก 6 สมาคมช่างเสริมสวย ที่จะนำมาเปิดสอนให้ช่างทำผมที่เข้าร่วมโครงการอีกด้วย
นายจุติ ไกรฤกษ์ กล่าวว่า “กระทรวง พม. ซึ่งมีภารกิจในการพัฒนาศักยภาพของสตรีและครอบครัว รวมทั้งการพัฒนาอาชีพให้ครอบครัวกลุ่มเป้าหมายให้มีรายได้อย่างมั่นคงสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ภายใต้การดำเนินวิถีชีวิตแบบ New Normal กระทรวง พม. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของผลกระทบดังกล่าว จึงได้ดำเนินโครงการ “ช่างผมอุ่นใจ” ร่วมกับ UNDP และสมาคมช่างผมเสริมสวย 6 สมาคม เพื่อช่วยเหลือเจ้าของร้านบาร์เบอร์และร้านซาลอนขนาดเล็ก (จำนวน 1-3 เก้าอี้) ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสูงที่สุด (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ก.ค. 63) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต นนทบุรี ยะลา สมุทรปราการ และจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ รวมจำนวน 1,000 ร้าน ให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างปลอดภัยตามมาตรการผ่อนปรนของรัฐบาล โดยปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสุขอนามัยของกระทรวงสาธารณสุข”
นายเรอโน เมแยร์ กล่าวว่า “ทาง UNDP มีความยินดีที่ได้จัดโครงการ “ช่างผมอุ่นใจ” ขึ้น ร่วมกับ กระทรวง พม. เนื่องจากเศรษฐกิจหลักของประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากภาคการท่องเที่ยวและการค้าระหว่างประเทศ โครงการนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่อยู่ในตัวเมืองหรืออยู่ต่างจังหวัดเองก็ดี ล้วนแล้วต้องเคยใช้บริการร้านบาร์เบอร์หรือซาลอนอย่างแน่นอน ร้านบาร์เบอร์และร้านซาลอนขนาดเล็กจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ภายหลังจากมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งกลับมาเปิดร้านอีกครั้ง และให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจด้วยความเชื่อมั่นในการรักษามาตรฐานสูงสุด ด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย ทั้งสำหรับลูกค้าและผู้ประกอบการ”
นางสาวอุษณี กังวารจิตต์ กล่าวว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ทั่วโลกได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านสุขภาพ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนทั่วไป ไม่สามารถออกมาประกอบอาชีพเพื่อหารายได้ตามปกติ ในส่วนหนึ่งผู้ที่ประกอบอาชีพช่างผมและช่างเสริมสวยได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการ เมื่อรัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการ ช่างผมและช่างเสริมสวยได้กลับมาเปิดกิจการอีกครั้งหนึ่ง และได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบอาชีพโดยคำนึงถึงหลักสุขอนามัยตามวิถีปกติใหม่ (New Normal) เพื่อให้ลูกค้าได้มั่นใจ รวมถึงการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดฯ ทำให้จะต้องมีรายจ่ายในการประกอบกิจการเพิ่มมากน” ดร.ณรงค์ ศรีเกรียงทอง กล่าวว่า “ในฐานะประธานสมาพันธ์ฯ ขอเป็นตัวแทนกล่าวขอบคุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ UNDP รวมถึงทั้ง 6 สมาคมช่างเสริมสวย ที่ช่วยผลักดันให้เกิดโครงการอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการร้านทำผมขนาดเล็กทั่วประเทศ ให้เรียนรู้ถึงการดำเนินกิจการตามวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) การป้องกัน การใช้อุปกรณ์ที่ปลอดภัย การรักษาสุขอนามัย รวมถึงมอบอุปกรณ์เพื่อใช้ในการประกอบกิจการแบบ New Normal นี้ เพื่อให้กิจการร้านทำผมดำเนินการได้อย่างเป็นปกติและสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการร้านทำผมอย่างยั่งยืน”
สำหรับโครงการ “ช่างผมอุ่นใจ” มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเจ้าของร้านบาร์เบอร์และร้านซาลอนขนาดเล็ก (จำนวน 1-3 เก้าอี้) ผู้สนใจสมัครผ่านช่องทาง
– Google Form https://drive.google.com/…/1ECP0wgay6Vh3HyXpyhTDdwCvY-Qk2wx…
– ทาง http://www.dwf.go.th/Content/View/10705 หรือ
– แฟนเพจ facebook กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว https://www.facebook.com/367383946683881/posts/3096982927057289/?d=n
ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2563 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-6425055-6 โดยผู้สมัครทั้ง 1,000 ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้เข้าร่วม 3 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่ 1) เรียนรู้การป้องกัน การใช้อุปกรณ์ที่ปลอดภัย และรักษาสุขอนามัย รวมถึงเทคนิคการทำผม 2) ทำบททดสอบในแต่ละบทเรียนผ่านเกณฑ์ที่กำหนด และ 3) รับมอบประกาศนียบัตรและถุงอุปกรณ์ช่างผมอุ่นใจ ร้านละ 1 ชุด (อุปกรณ์ช่างผมอุ่นใจ ประกอบด้วย 1) เครื่องอบฆ่าเชื้อ UV Sterilizer อุปกรณ์ทำผม 2) เครื่องวัดอุณหภูมิ 3) หน้ากากผ้า 4) เจลแอลกอฮอล์ 5) หน้ากาก Face Shield 6) ถุงมือ และ 7) ถุงผ้าช่างผมอุ่นใจ
โดยแบ่งการอบรมออกเป็น 3 รุ่น ดังนี้
รุ่นที่ 1 รับสมัครจำนวน 100 คน/ร้าน (จากทั่วประเทศ) ผู้สมัครจะต้องเข้ารับการอบรมหลักสูตรช่างผมอุ่นใจกับอาจารย์ด้านช่างผมและเสริมสวย ในวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ณ ห้องประชุมชั้น 2 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยจะมีพิธีมอบเกียรติบัตร พร้อมถุงช่างผมอุ่นใจ
รุ่นที่ 2 รับสมัครจำนวน 680 คน/ร้าน (จากกรุงเทพมหานคร ภูเก็ต นนทบุรี ยะลา และสมุทรปราการ) ผู้สมัครต้องเรียนรู้และทดสอบด้วยตนเองผ่านทางออนไลน์
รุ่นที่ 3 รับสมัครจำนวน 220 คน/ร้าน (จากทุกจังหวัด ยกเว้น 5 จังหวัดในกลุ่มที่ 2) ผู้สมัครต้องเรียนรู้และทดสอบด้วยตนเองผ่านทางออนไลน์
นายจุติ กล่าวในตอนท้าย “ขอขอบคุณ UNDP และสมาคมช่างเสริมสวยทั้ง 6 สมาคม สำหรับโครงการ “ช่างผมอุ่นใจ” ที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาตามนโยบายของกระทรวง พม. ที่ขับเคลื่อนโครงการ “พม. เราไม่ทิ้งกัน” และด้วยความร่วมมือครั้งนี้ ผู้ประกอบกิจการร้านเสริมสวยและร้านตัดผมขนาดเล็ก ยังจะได้รับโอกาสอบรมหลักสูตรที่จำเป็นในแบบ New Normal สำหรับสถานประกอบการ โดยวิทยากรจากสมาคมช่างเสริมสวยทั้ง 6 สมาคม ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านช่างผมที่มีชื่อเสียง และจะได้รับ “ถุงช่างผมอุ่นใจ” สนับสนุนโดย UNDP นับว่าเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนในวงกว้าง ทั้งนี้ กระทรวง พม. ขอยืนยันว่า ความช่วยเหลือนี้จะส่งไปถึงมือของประชาชนอย่างแน่นอน”
ขอบคุณภาพจาก กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
FB : สมาคมวิชาชีพช่างทำผมไทย ,
FB : Jha Dusita Suppala