การที่เราจะประสบความสำเร็จในอาชีพได้นั้น ไม่ใช่แค่เพียงการศึกษาทฤษฎีในห้องเรียน เช่นเดียวกับแฮร์สไตลิสต์ชั้นนำทั้งหลายที่พัฒนาฝีมือและออกไปแสวงหาประสบการณ์จากการแข่งขันในเวทีต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ความสำเร็จ หนึ่งในนั้นก็คือ “แอน-อรไพลิน วงษ์ประเสริฐ” แห่งร้าน Salon Dio ที่มีฝีมือด้านการดีไซน์ทรงผมและครีเอทสีสันแซ่บๆ สุดอินเทรนด์ ทำให้ร้าน Salon Dio มีชื่อเสียงโด่งดังติดอันดับต้นๆ ในหมู่ดาราวัยรุ่น รวมทั้งนักดนตรีแนวอินดี้และฮิปฮอป การันตีฝีมือด้วยรางวัลชนะเลิศจากการประกวด SAB Thailand Young Hairdressing Awards 2018 ในประเภท Commercial Style ของชวาร์สคอฟ โปรเฟสชั่นแนล (ประเทศไทย) ทำให้ได้เป็นตัวแทนช่างผมไทยไปแข่งขันในระดับเอเชียแปซิฟิค ในงาน Shaping Authentic Beauty Congress – Asia Pacific 2019 ณ นครหลวงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา Hairworld Plus+ ฉบับนี้จึงไม่พลาดที่จะพาไปทำความรู้จักแฮร์สไตลิสต์รุ่นใหม่ไฟแรงคนนี้
ก้าวแรก…ในการเข้าสู่วงการช่างทำผม
ตอนนั้นแอนเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็จะมีเวลาค่อนข้างเยอะ และช่วงนั้นยังนึกภาพตัวเองไม่ออกว่าเรียนจบแล้วจะไปเป็นพนักงานออฟฟิศ หรือนั่งทำงานประจำอยู่ที่โต๊ะ พอดีกับคนที่บ้านได้จุดประกายขึ้นมาว่าบุคลิกอย่างแอนน่าจะไปเป็นช่างทำผมนะ ก็เลยตัดสินใจไปลองสมัครเรียนทำผมที่โรงเรียนเกตุวดี ก็ถือเป็นก้าวแรกและจุดเริ่มต้นในการเป็นช่างทำผมมาถึงทุกวันนี้
เริ่มต้นจากศูนย์…เรียนรู้การเป็นช่างทำผม
ช่วงแรกที่เรียนทำผมที่โรงเรียนเกตุวดีต้องปรับตัวเยอะมาก เข้าห้องเรียนครั้งแรกเราไม่มีประสบการณ์อะไรเลย เรียกว่าเริ่มต้นจากศูนย์ รู้สึกว่ายากมากจนอยากจะถอดใจหลายครั้ง แต่ก็คิดว่า เอาล่ะ! ลองดูสักตั้ง เพราะไหนๆ ก็เข้ามาเรียนแล้วก็อยากเรียนให้จบ พอเรียนจบก็มาเป็นช่างสระไดร์ก่อน เลือกไปทำงานร้านใกล้บ้านแถวๆ บางนา ทำอยู่เกือบ 2 ปี ก็ย้ายไปสมัครงานร้านเล็กๆ เป็นช่างซอยผม เพราะจะให้ไปทำร้านใหญ่ๆ เราก็ยังไม่มีประสบการณ์พอ
ช่วงค้นหาตัวเอง
ตอนที่เริ่มทำงานเป็นช่างทำผมใหม่ๆ แอนก็ยังไม่รู้สึกชอบอาชีพนี้นะ เรียกว่าทำไปวันๆ แล้วคิดว่าถ้าอนาคตมีอะไรที่ดีกว่านี้ให้ทำก็จะเลิกเป็นช่างทำผม คือตอนนั้นรู้สึกว่าเหมือนเราอยู่กับที่ ทำงานอยู่แต่ในร้านเล็กๆ ทำงานเดิมๆ ซ้ำๆ ทุกวัน ไม่ได้ออกไปเปิดโลกภายนอก แล้วร้านที่ทำอยู่ก็ไม่ได้เป็นพวกสถาบันสอนทำผมที่ส่งเสริมให้พนักงานไปอบรมอะไรเพิ่มเติมด้วย แอนทำงานแบบนั้นไป 2-3 ปี เริ่มรู้สึกเบื่อ ไม่รู้สึกว่าตัวเองอยากจะขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม อยากหางานแบบอื่นที่ดีกว่านี้
จุดเปลี่ยนของชีวิต
แต่พอดีมีจุดเปลี่ยนของชีวิต คือช่วงที่ครอบครัวมีปัญหาเรื่องเงิน และแฟนลาออกจากงานประจำ ก็เลยตัดสินใจเอาเงินเก็บก้อนสุดท้ายมาเปิดร้านทำผมเล็กๆ ทำกันเองกับแฟน และคิดแค่ว่าเงินเก็บที่เหลืออยู่ 3 แสนบาทนี่เป็นเงินก้อนสุดท้ายที่เราต้องทำร้านให้รอดแล้วนะ เรียกว่าต้องสู้แบบหลังชนฝาแล้ว และเป็นจุดที่ทำให้เราเปลี่ยนความคิด จากที่ทำงานไปวันๆ ก็เริ่มตั้งใจ ใส่ใจและหาความรู้เพิ่มเติมเรื่อยๆ ก็เป็นการเริ่มต้นทำอาชีพช่างผมอย่างจริงจังตั้งแต่วันนั้น
พัฒนาสู่การเป็นเจ้าของร้าน
ร้านทำผมร้านแรกของแอนที่เปิดตอนนั้นยังไม่ได้ชื่อ Salon Dio ใช้ชื่อว่า A2N มาจากคำว่า “แอน” ใช้ชื่อนี้มาประมาณ 2-3 ปี จากนั้นก็มีการขยายร้านใหญ่ขึ้น เลยเปลี่ยนชื่อร้านมาเป็น Salon Dio ให้ดูทันสมัยขึ้น ชื่อร้านก็มาจากคำว่า Salon กับ Studio เอามารวมกันและกระชับให้สั้นขึ้นเป็น Salon Dio
ความโดดเด่นของร้าน Salon Dio
ร้าน Salon Dio จะโดดเด่นเรื่องการทำสีผมมากๆ มีดาราและนักร้องมาทำผมกันเยอะมากเลยค่ะ อย่างคนที่เราดูแลมาตลอดก็จะมีน้องเปอติ๊ด เดอะวอยซ์ ส่วนคนอื่นๆ ที่มาทำก็อย่างคุณแบงค์ วงแคลช, คุณเต๋า วงสวีทมัลเล็ท, น้องเบียร์ เดอะวอยซ์ แล้วก็มีพวกวงอินดี้และฮิปฮอปอีกหลายวง คือมีเยอะมากๆ พูดถึงไม่หมดเลยค่ะ
ผลงานสุดประทับใจ
ผลงานที่ประทับใจมากๆ และถือว่าเป็นรางวัลให้กับตัวเองก็คือ การแข่งขันทำผมเมื่อปี 2561 ของชวาร์สคอฟ โปรเฟสชั่นแนล (ประเทศไทย) SAB Thailand Young Hairdressing Awards 2018 แอนได้เข้าเป็น Winner ในประเภท Commercial Style ได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปแข่งขันในระดับเอเชียแปซิฟิค ในงาน Shaping Authentic Beauty Congress–Asia Pacific 2019 ณ นครหลวงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อเดือนเมษายน2562 ถือเป็นรางวัลที่ภูมิใจที่สุด และเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดีมากๆ
การบริหารร้านในแบบของ “แอน Salon Dio”
จริงๆ แอนก็ไม่ใช่นักธุรกิจ ก็จะไม่บริหารร้านเคร่งเครียดเป็นแบบในองค์กรขนาดนั้น เพราะตัวเราเองก็เป็นช่างแล้วก็ทำงานอยู่ในร้านด้วย การบริหารของแอนก็จะเป็นแบบใช้ใจนำสมอง คืองานที่เราทำเรียกได้ว่าเป็นงานศิลปะ พวกเรื่องการบริหารหรือการคำนวณก็จะเอาไว้ทีหลัง คือทำงานแบบใช้ใจนำก่อน
ช่างทำผมกับการบริหารร้าน
แอนมองว่าการที่ช่างทำผมมาเป็นเจ้าของร้านแล้วจะทำให้ร้านประสบความสำเร็จได้ มันไม่ใช่แค่คุณทำผมเก่งอย่างเดียว คุณต้องเก่งทั้งเรื่องธุรกิจ และการทำผมควบคู่กันไป เพราะสมัยนี้มีร้านทำผมมีร้านซาลอนเปิดขึ้นเยอะมาก อย่างแอนเป็นช่างทำผมด้วย แล้วยังทำงานในฐานะเจ้าของร้านด้วย มันเหนื่อยมาก แต่โชคดีที่มีแฟนมาดูแลเรื่องการตลาด การประชาสัมพันธ์ร้านทาง Fan Page ส่วนตัวเองก็จะมาดูแลด้านงานทำผม ก็คือช่วยส่งเสริมกันและกัน สมัยนี้ช่างทำผมที่เก่งก็อาจจะอยู่ไม่ได้ ขณะที่คนที่ทำธุรกิจเก่ง แต่ไม่ใช่ช่างทำผม ก็ประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ได้ เปิดร้านทำผมเป็นสิบหรือยี่สิบสาขาได้ก็มีอยู่เยอะ
อุปสรรคในการทำงาน และการให้กำลังใจตัวเอง
ถ้าเป็นเรื่องอุปสรรคแล้วก็มีหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการทำผม หรือเรื่องอื่นๆ แต่ถ้าอุปสรรคตอนนี้ก็ต้องบอกว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องงาน แต่เป็นเรื่องของบุคลากรมากกว่า แทบทุกร้านจะเจอปัญหานี้ ส่วนเรื่องของกำลังใจ เวลาเจออุปสรรคหรือปัญหาก็จะพยายามให้กำลังใจตัวเองทุกครั้ง เพราะทุกคนพอทำงานไปถึงจุดนึง แม้จะเป็นงานที่รัก ก็จะมีช่วงที่รู้สึกอิ่มตัว เริ่มเหนื่อย เริ่มล้า เราก็ต้องหาเวลาไปพักผ่อนสมอง ไปเที่ยว หาอะไรทำให้ตัวเองรู้สึกมีชีวิตชีวา แล้วค่อยกลับมาโฟกัสกับงานต่อ
ช่างทำผมกับการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง
หลังจากเปิดร้าน มีร้านเป็นของตัวเอง แอนก็เริ่มสนใจเรื่องการทำผมมากขึ้น เริ่มรู้สึกว่าตัวเองชอบทำสีผม ก็เลยอยากหาความรู้ด้านนี้เพิ่มเติม พอดีกับที่เราเห็นว่ามีพวกบริษัทที่ขายผลิตภัณฑ์ทำผมจะมีการเทรน การเปิดอบรมเทคนิคต่างๆ ให้กับร้านทำผมที่ซื้อของจากเขา แอนก็เลยเปลี่ยนจากการซื้อของจากร้านยี่ปั้วมาเป็นการสั่งซื้อจากบริษัท ที่แม้ราคาจะสูงกว่าแต่เราต้องยอมแลกกันเพื่อที่จะได้ความรู้ ได้เป็น Partner กับบริษัท ซึ่งจะทำให้ตัวเองและพนักงานในร้านได้เข้าไปอบรมเทคนิคต่างๆ อยู่เรื่อยๆ นอกจากนี้แอนก็จะดูพวก YouTube ที่ในช่วง 5 ปีหลังมานี้จะมีพวกคลิปการสอนทำเทคนิค การทำสีมาลงมากขึ้น ดูแล้วก็เอามาทำกับช่างผมในร้าน ลองผิดลองถูกกัน เรียกว่าเป็นการแชร์ความรู้กับช่างในร้านด้วย
ช่างผมกับแฟชั่น
แอนคิดว่าทั้งสองเรื่องนี้มันต้องไปด้วยกันเลย แฟชั่นเป็นยังไงทรงผมก็เป็นยังงั้นเลย เพราะตอนนี้แฟชั่นมันจะเปลี่ยนทุกๆ ครึ่งปี ทั้งเรื่องการแต่งตัว ทรงผม เสื้อผ้า อย่างทรงผมก็จะมี In กับ Out ตามเทรนด์แฟชั่นโลก แต่จริงๆ แล้วก็ขึ้นอยู่กับคนใส่มากกว่าว่าอยากจะตามเทรนด์หรือเปล่า หรืออยากจะดึงความเป็นตัวเองเข้ามา ก็แล้วแต่ความชอบ
สไตล์การแต่งตัวที่ชอบ
ชอบสไตล์มินิมอลค่ะ แล้วก็จะคุมโทนสีดำ คือตั้งแต่มาเป็นช่างทำผมก็จะเน้นคุมโทนสีดำ ขาว และเทา เน้นใส่อะไรที่เรียบง่าย ไม่เป็นแฟชั่นมากจนเกินไป เน้น Cutting Pattern มากกว่า
กิจกรรมในวันสบายๆ
นอกเหนือจากการทำงานสิ่งที่ถือว่าเป็นการรีแล็กซ์ของแอนคือ การออกกำลังกาย ที่ถือเป็นการพักผ่อนสมอง แล้วก็ชอบท่องเที่ยวค่ะ
ของสะสม และของรักของหวง
กรรไกรตัดผมค่ะ แต่ถือว่าไม่ได้เป็นของสะสมแบบจริงจังอะไร คือพอเราเริ่มทำงานเป็นช่างผมก็รู้สึกว่าเราอยากมีอุปกรณ์ดีๆ ใช้ ก็จะไม่ได้นึกถึงเรื่องมูลค่าว่าเป็นของแพง แต่พอเราใช้ของดีๆ แล้วก็มีความสุข ก็เลยเริ่มซื้อเก็บไว้เรื่อยๆ ตอนนี้มีประมาณ 10 เล่ม มีบางเล่มที่ราคาก็ค่อนข้างแพงค่ะ ส่วนของรักของหวงก็เป็นพวกอุปกรณ์ที่ใช้เกี่ยวกับการทำผม และพวกรองเท้าตามแฟชั่นที่ชอบซื้อมาบ่อยๆ ค่ะ
รถสปอร์ตคันโปรด
แอนเป็นคนที่ชอบรถสปอร์ต แล้วก็ชอบรถแบบสองประตู ล่าสุดเพิ่งเปลี่ยนรถมาก็เป็นรถคันที่ชอบมาก และเป็นแบรนด์ที่อยากใช้มานาน มาถึงตอนนี้ก็ได้เป็นเจ้าของก็คือ Audi A5 ค่ะ
ช่างทำผมที่เป็นไอดอล
ดร.สมศักดิ์ ชลาชล ค่ะ ท่านเป็นบุคคลสำคัญที่แอนถือเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะท่านเป็นคนที่ได้พัฒนาวงการทำผมให้มาถึงจุดนี้ได้ คือช่วงก่อนนี้เมื่อ 20-30 ปีก่อน คนจะมองช่างทำผมอีกแบบหนึ่ง คือมองไม่ดีเท่าไหร่ แต่ตอนนี้วงการช่างทำผมไทยมีเด็กใหม่ๆ เข้ามาเยอะมากขึ้น เราจะเห็นว่ามีแม้กระทั่งเด็กที่จบปริญญาตรี ปริญญาโท หรือแม้กระทั่งไปเรียนวิชาชีพเฉพาะที่เมืองนอก กลับเข้ามาเป็นช่างทำผมกันเยอะ ซึ่ง ดร.สมศักดิ์เป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้วงการช่างทำผมก้าวไปข้างหน้า
มุมมองต่ออาชีพช่างทำผม
ถ้าย้อนกลับไปจะเห็นว่าในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นซาลอนหรือบาร์เบอร์ จะเห็นว่ามีช่างทำผมเกิดขึ้นมาเยอะมาก และมีร้านใหม่ๆ เปิดขึ้นเยอะ ในฐานะที่แอนอยู่ในวงการมา 15 ปีแล้ว ก็อยากจะให้ช่างทำผมอย่าหยุดอยู่กับที่ ต้องพัฒนาตนเองไปเรื่อยๆ เพราะเทรนด์การทำผมเปลี่ยนไปทุกๆ ปี ถ้าช่างทำผมคิดว่าตัวเองเจ๋งหรือเก่งแล้วเราก็จะโดนครอบอยู่ในกรอบเล็กๆ จะทำให้เราเก่งอยู่แค่ในร้าน แต่ถ้าเราเปิดมุมมอง เดินออกมาจากร้านของเรา หรือจุดที่เรายืนอยู่ ก็จะเห็นอะไรหลายอย่าง อย่างตัวแอนเองพอได้ไปแข่งขันที่ประเทศจีน ก็ได้เห็นว่า โอ้โห ช่างทำผมในอาเซียนหรือเพื่อนๆ ที่ไปแข่งขันด้วยกันนี่เรียกว่าโคตรเก่งเลย เก่งมากๆ รู้สึกว่าตัวเองนี่ตัวเล็กมากๆ เลย อยากให้ช่างผมไทยพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ แค่เราหยุดพัฒนาก็คือเราหยุดอยู่กับที่หรือถอยหลังแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องเดินอยู่ตลอดเวลา ไม่งั้นเราก็เอ้าท์หรือหลุดจากวงการแน่นอน
สิ่งที่ทำให้ก้าวมาถึงจุดนี้
สิ่งสำคัญที่ทำให้แอนก้าวมาถึงจุดนี้ได้ อันดับแรกคือ เราไม่หยุดพัฒนาตัวเอง และไม่รอให้โอกาสวิ่งเข้ามาหา แต่เราจะวิ่งเข้าไปหาโอกาส และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก คือ การได้รับการสนับสนุนจากคนรอบตัว และคอยกระตุ้นเรา อย่างการแข่งขันล่าสุดของชวาร์สคอฟ ตอนแรกแอนก็ไม่คิดที่จะเข้าประกวด แต่คนรอบข้างก็จะบอกให้ลองดู ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ก็ถือว่าคนรอบข้างเป็นกำลังใจสำคัญ ถ้าวันนั้นไม่ส่งผลงานเข้าไป เราก็คงไม่มีโอกาสได้ไปยืนอยู่บนเวทีระดับอาเซียน
ฝากถึงช่างทำผมรุ่นใหม่
วงการนี้การทำงานก็จะไม่เหมือนวงการอื่น อยากให้ช่างทำผมรุ่นใหม่ๆ ช่วยกันพัฒนาวงการช่างทำผมของไทยให้ก้าวไปข้างหน้า และสร้างผลงานดีๆ ออกมาเยอะๆ ถ้ารู้สึกท้อก็พยายามให้กำลังใจตัวเอง และอย่าหยุดพัฒนาตัวเอง
ด้วยเทรนด์การทำผมและแฟชั่นที่ก้าวล้ำไปทุกๆ ปี ช่างผมไทยจึงต้องพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง และหาประสบการณ์จากเวทีการประกวดแข่งขันต่างๆ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อนำไปต่อยอดในสายอาชีพต่อไป ซึ่ง “แอน-อรไพลิน วงษ์ประเสริฐ” แห่งร้าน Salon Dio นับเป็นแฮร์สไตลิสต์รุ่นใหม่ไฟแรงอีกคนหนึ่งที่น่าจับตามอง และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ช่างทำผมรุ่นใหม่ต่อไป