“ผ้าโพกผม” มีหลักฐานปรากฏให้เห็นตั้งแต่สมัยกรีก-โรมันแล้ว โดยเป็นเพียงผ้าสี่เหลี่ยมจัตุรัสพิมพ์ลายที่ทำมาจากผ้าหลายชนิด เช่น คอตตอน ลินิน ผ้าไหม เป็นต้น ถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อป้องกันความร้อนและเหงื่อไหลซึมเปรอะใบหน้า อีกทั้งยังช่วยเก็บผมให้เข้าที่เรียบร้อยเวลาทำงาน
ส่วนลายพิมพ์หยดน้ำที่เราคุ้นเคยกันดีนั้น มีต้นกำเนิดมาจากแคว้นแคชเมียร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเปอร์เซียร์ในดินแดนตะวันออกกลาง เป็นลายที่มีความคดโค้งคล้ายกับขนนก ไม่มีรูปแบบตายตัว ในเปอร์เซียจะเรียกลวดลายเช่นนี้ว่า Boteh (โบเทธ์) สันนิษฐานว่าเลียนแบบมาจากการวาดต้นสนของศิลปะเปอร์เซียโบราณ เนื่องจากต้นไม้ชนิดนี้เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของชีวิตตามความเชื่อของศาสนาโซโรอัสเตอร์ที่นับถือเทพเจ้าและธรรมชาติแสนเก่าแก่
ลายคดโค้งนี้ได้เผยแพร่เข้าสู่ดินแดนเอเชียใต้พร้อมๆ กับการเข้ามาปกครองของราชวงศ์โมกุล จนกลายเป็นลายท้องถิ่นลายหนึ่งของอินเดียไปโดยปริยาย ต่อมา เมื่ออังกฤษเข้ายึดครองอินเดียได้สำเร็จ ลายคดโค้งนี้ก็เริ่มได้รับความนิยมไปทั่วโลก จนกลายเป็นที่รู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษว่าลาย Paisley (เพสลีย์) ซึ่งตั้งตามชื่อเมืองในสก๊อตแลนด์ที่นำลวดลายนี้ไปทอเป็นผืนผ้าสำหรับจำหน่ายในตลาดยุโรปต่อไป
อย่างไรก็ตาม การพิมพ์ลายลงบนผ้านั้นได้รับความนิยมมากขึ้นตอนปฏิวัติอเมริกา ช่วงทศวรรษ 1950 โดยจะพิมพ์ข้อความพร้อมรูปลงไปเพื่อรณรงค์นโยบายทางการเมือง จากนั้นมาก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในวงการบันเทิงและสื่อโฆษณา บริษัทต่างๆ หันมาสนใจใช้ผืนผ้าเป็นพื้นที่แสดงภาพทีมกีฬา นักร้อง นักดนตรี หรือแม้กระทั่งนักแสดง กลายเป็นการสร้างโฆษณารูปแบบใหม่ที่เฉิดฉายอยู่บนศีรษะของผู้คนและแพร่หลายออกไปสู่สาธารณชนอย่างกว้างขวาง
สุดท้ายแล้ว การใช้ผ้าโพกผมจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและการแสดงตัวตนในสังคม เราสามารถใช้ผ้าโพกผมได้อย่างสารพัดประโยชน์ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลได้ก็ตาม ทั้งการชุมนุมแรงงาน การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ หรือแม้กระทั่งเพื่อความสวยงามที่ในวงการแฟชั่นเองก็นำผ้าโพกผมมาใช้เป็นเครื่องประดับเสริมจนถึงปัจจุบัน
ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , m.thaitv3