มีไม่กี่คนในสายอาชีพที่ถูกขนานนามว่าเป็น “ตำนาน” หากจะกล่าวถึงอาชีพช่างผม ชื่อของ
ดร.สมศักดิ์ ชลาชล ต้องเป็นชื่ออันดับต้นๆ ที่คนไทยนึกถึง เพราะนอกจากจะปลุกปั้นจนร้านเสริมสวย “ชลาชล” เป็นที่รู้จักในวงกว้างแล้ว ท่านยังมีคุณูปการต่อวงการช่องผมไทยและเอเชีย จนได้ขึ้นแท่น HAIR HERO OF APAC แฮร์เวิล์ดฉบับนี้ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ท่านถึงชลาชลอะคาเดมี จึงเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิต กว่าจะมีวันนี้ของ “ชลาชล” ต้องพบเจอกัยอะไรมาบ้าง ซึ่งใครที่ได้อ่านเรื่องนี้ของท่านของต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ท่านคือตำนานที่ยังมีชีวิตจริงๆ
ช่วยเล่าความเป็นมาหน่อยค่ะว่ากว่าจะมีวันนี้ผ่านอะไรมาบ้าง
ในการเริ่มต้นที่จะเข้ามาเป็นช่างทำผมนั้น แน่นอนว่าคนสมัยนี้จะต้องพูดว่าต้องมี Passion แต่ในยุคสมัยเมื่อ 40 ปีก่อน คนยังไม่เข้าใจคำว่า Passion รู้จักแต่คำว่าสิ่งที่ชอบ ในขณะนั้นประเทศไทยเป็นประเทศที่ยังไม่ค่อยเจริญ ดังนั้น สิ่งต่างๆ ที่คนไทยทำจะเป็นเรื่องของปากท้อง ส่วนเรื่องสวยๆ งามๆ คนยังไม่ค่อยให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาชีพดารา ที่คนจะมองว่าเป็นอาชีพเต้นกินรำกิน ช่างเสริมสวย หรือการเป็นตลก อะไรพวกนี้จะไม่มีเลย ทุกคนจะต้องดิ้นรนจะเลี้ยงปากท้องตัวเอง
และสมัยก่อนกลุ่มคนที่ทำงานในวงการเสริมสวยจะมีน้อยมาก คนที่อยากสวยอยากงามก็มีน้อยมาก เพราะอาชีพช่างเสริมสวยจะเกิดมาจากในรั้วในวัง คนที่จะทำได้ก็คือพวกผู้ลากมากดี อีกกลุ่มหนึ่งก็คือพวกที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องสวยๆ งามๆ อย่างเช่น ดารา และพวกผู้หญิงทำงานกลางคืน กลุ่มหลังนี้ก็จะเข้าร้านเสริมสวย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วงการเสริมสวยถูกมองในแง่ไม่ดี และพ่อแม่ก็จะไม่อยากให้ลูกทำอาชีพช่างทำผม อยากให้เป็นเถ้าแก่หรือเจ้าของกิจการมากว่า ซึ่งในส่วนของตัวผมเองที่บ้านก็เป็นครอบครัวคนจีน ทำอาชีพโรงสี ก็จะไม่เคยมองเรื่องพวกนี้เลย แต่สิ่งหนึ่งที่เรามีคือความรักสวยรักงาม ซึ่งสมัยก่อนจะเปิดเผยแบบสมัยนี้ไม่ได้ และผมก็มีคู่หมั้นที่เป็นผู้หญิง ซึ่งครอบครัวคนจีนสมัยนั้นจะใช้วิธีคลุมถุงชน ในช่วงนั้นคู่หมั้นและตัวผมเองก็จะเข้าร้านทำผม ซึ่งผู้ชายสมัยก่อนจะไม่เข้าร้านทำผมกันนะครับ แต่ตัวผมเข้าเพราะเป็นพวกสำอาง
เริ่มต้นสู่การเป็นช่างทำผมได้อย่างไร
ในสมัยเมื่อ 50 ปีที่แล้วร้านทำผมชื่อดังในย่านสยามสแควร์ก็อย่างเช่น อาจารย์มนูศักดิ์ บุญมาเลิศ ท่านเป็นอาจารย์ที่เท่มาก เป็นเจ้าของโรงเรียนเสริมสวยมนูศักดิ์ มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย อย่าง อดุลย์ Hair Do และอาจารย์เรืองฤทธิ์ เกตุเลขา ซึ่งกลุ่มบาร์เบอร์พวกนี้จะมีชื่อเสียงมากตอนผมเป็นเด็ก
จนวันหนึ่งมีเจ้าของร้านทำผมเข้ามาคุยว่าอยากจะเซ้งร้านของเขาไหม ก็ถือเป็นการจุดประกายให้หันมาสนใจอาชีพนี้ และเริ่มคิดว่าตัวเองก็การศึกษาดี เพราะเคยเรียนวิทยาลัยครูสวนสุนันทา แล้วฐานะก็ดี ถ้าเราจะเป็นเจ้าของร้านก็ควรต้องเรียนเพื่อมี Certificate เหมือนเป็นเครื่องรับประกันให้พนักงานรู้ว่าเราก็เรียนมา ก็ปรึกษาเจ้าของร้าน ซึ่งก็แนะนำให้ไปเรียนที่โรงเรียนเสริมสวยเกตุวดี ช่วงนั้นก็ประมาณปี 2517 ตอนแรกก็ไปสมัครเรียนแต่ก็กลับมานั่งคิดว่าจะเรียนดีไหม เพราะตัวเองไม่มีความรู้เรื่องพวกนี้เลย และถูกวัฒนธรรมของครอบครัวคนจีนอบรมว่าให้เป็นเถ้าแก่โรงสี และสมัยนั้นผู้ชายที่เป็นเกย์จะเปิดเผยไม่ได้ และพูดตามตรงเลยว่าคนที่จะเรียนเป็นช่างทำผมก็มีแค่ 2 “กะ” คือ “กะเทย” กับ “กะห…” และอีกกลุ่มก็คือพวกเมียน้อย เมียเก็บ เมียเช่า ซึ่งทำให้คนที่ไปเรียนช่างเสริมสวยหรือช่างผมถูกมองไม่ค่อยดี แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจไปเรียน เพื่อเดินตามความฝัน ก็ได้เรียนกับอาจารย์น้อย เชื้อวิวัฒน์ เจ้าของโรงเรียนเสริมสวยเกตุวดี
หลังจากเรียนแล้วชีวิตดำเนินไปในรูปแบบใด
พอเริ่มเรียนไปสักพักก็รู้ตัวว่าเราเป็นคนมีพรสวรรค์ และอีกอย่างเราเป็นคนช่างสังเกต และมีความคิดสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเรื่องนี้ต้องยกความดีให้คุณแม่ที่เป็นคนชอบตกแต่งบ้านและทำความสะอาด ทำให้เราได้ซึมซับเรื่องเหล่านี้มาด้วย แต่หลังจากเราไปเรียนทำผม แม่ก็เริ่มสงสัย และมีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น คือ ครอบครัวคู่หมั้นของผมมาที่โรงเรียนเกตุวดี มาคุยเรื่องแต่งงานเพื่อให้ผมไปช่วยดูแลโรงงานของเขา ซึ่งวันนั้นก็เป็นวันที่เราต้องตัดสินใจเปิดเผยตัวตน และต้องบอกความจริงว่าไม่ได้ชอบผู้หญิง ซึ่งตอนนั้นเครียดมากกับการที่เราต้องบอกความจริงกับผู้หญิงที่เราดูแลมา 4-5ปี แต่ก็มีเรื่องยากกว่านั้นอีก คือ การบอกความจริงกับคุณแม่ ซึ่งก่อนหน้านี้คุณแม่ก็รับไม่ได้ที่ลูกมาเรียนตัดผมเพราะอายครอบครัวมาก และมีเรื่องไม่แต่งงานอีก คุณแม่ก็ประกาศตัดแม่ตัดลูกเลย ให้บ้านมา 1 หลังและรถ 1 คัน ช่วงนั้นเรียนทำผมจบพอดีอาจารย์น้อยต้องไปแข่งขันชิงแชมป์ผมโลกที่ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา ก็ชวนผมเข้าร่วมทีมด้วย ผมก็เลยตัดสินใจขายบ้านได้เงินมา 1 ล้าน แล้วเดินทางไปลาสเวกัสทันที
ครั้งแรกกับการแข่งขันที่อเมริกาเป็นอย่างไรบ้าง
งานแข่งขันครั้งนั้นยิ่งใหญ่มาก และประเทศไทยยังไม่เป็นที่รู้จัก มีประเทศเข้าร่วมแข่ง 148 ประเทศ ส่วนประเทศไทยได้อันดับที่ 147 ถึงแม้จะชนะมาประเทศเดียว แต่ถือว่าได้ประสบการณ์อย่างมาก พอกลับมาอาจารย์น้อยก็ชวนมาเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนเสริมสวยเกตุวดี
กว่าจะมีวันนี้ของ “ชลาชล”
หลังจากนั้นผมได้เข้าร่วมการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งสมัยก่อนการแข่งขันทรงผมจะเป็นสไตล์ Hair World ต้องฟอกสีผมให้ขาวก่อน และหวีให้เป็นลอนสวย ตอนนั้นได้นางแบบคือ คุณเหน่ง อรศรี บาเลนซิเอก้า (คุณแม่ของนักแสดงสาว มาร์กี้ – ราศี บาเล็นซิเอก้า จิราธิวัฒน์) แต่สมัยนั้นเทคโนโลยีของสีฟอกผมไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เมื่อต้องใช้นางแบบคนไทยที่มีผมดำทำให้ฟอกผมยากมาก ซึ่งตอนนั้นผมก็ชนะได้แชมป์มา แต่ก็ฟอกผมซะจนศีรษะของคุณเหน่งเป็นแผล ผมก็รู้สึกสงสารเลยให้มาทำงานเป็น PR ที่ร้าน และส่งเสริมให้เป็นนางแบบชื่อดังในสมัยนั้น
หลังจากนั้นผมก็ได้เข้าแข่งขันเวทีต่างๆ อีกหลายเวที เพราะชอบที่จะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆ จนทำให้เริ่มมีชื่อเสียงและลูกศิษย์เพิ่มมากขึ้น
ผมอยู่ที่ร้านเกตุวดีมาประมาณ 8 ปี เป็นลูกจ้างทำทุกอย่างที่ช่างทำผมพึงจะทำ และได้มีโอกาสได้ทำผมให้คนดังๆ อย่าง คุณตุ๊ก – ญาณี จงวิสุทธิ์ พิธีกรรายการมาตามนัด ที่คู่กับคุณต้อย – เศรษฐา ศิระฉายา ซึ่งเป็นรายการที่ดังมากในสมัยนั้น และได้ทำผมให้นางแบบและผู้เข้าประกวดนางงามอย่าง ลูกเกด เมทินี, ปูเป้ ปทุมรัตน์ วรมาลี ตอนนั้นผมก็เก็บเกี่ยวประสบการณ์จนชื่อเสียงเริ่มโด่งดังมาก และเริ่มรู้สึกอิ่มตัวก็ขอลาออกจากโรงเรียนเกตุวดีเพื่อไปเปิดร้านของตัวเอง
เปิดร้านชลาชลครั้งแรกเป็นอย่างไร
ช่วงที่เปิดร้านของตัวเองถือว่าเรามีชื่อเสียงพอสมควรแล้ว มีหลายสถาบันมาทาบทามให้ไปร่วมงาน แต่เราก็มุ่งมั่นที่จะเปิดร้านของตัวเอง และไม่เคยดึงคนของอาจารย์น้อยมา เป็นการสร้างร้านและสร้างคนขึ้นมาเองทั้งหมด โดยร้านแรกที่เปิดอยู่ที่ซอยทองหล่อ ประมาณปี 2531 ถือเป็นการสร้างตัวตอนอายุ 31 ปีแล้ว สำหรับชื่อร้านก็ใช้นามสกุลของตัวเอง คือ “ชลาชล” มาตั้งเป็นชื่อร้าน
ช่วงแรกของการดำเนินธุรกิจของตัวเอง
ในตอนเปิดร้านก็ถือว่าค่อนข้างสบาย เพราะเราสะสมชื่อเสียงและลูกค้ามาในระดับหนึ่ง และมีเพื่อน ซึ่งบุคคลที่ผมอยากจะเอ่ยถึงและถือว่าทำให้ผมได้เกิดมาทุกวันนี้ แน่นอนก็คือ 1. คุณแม่ของผม 2. แม่ทางอาชีพ ก็คือ อาจารย์น้อย เชื้อวิวัฒน์ และ 3. แม่ทางสังคม คือ เจ้ากอแก้วประกายกาวิล ณ เชียงใหม่ ซึ่งรักและสนิทกันมาก ท่านจะคอยพาผมออกงาน พาไปรู้จักสื่อต่างๆ พาเข้าสังคมชั้นสูง ซึ่งทั้งสามคนนี้ผมจะระลึกไว้ในใจตลอด
พัฒนาร้านอย่างไรจนขยายสาขาได้
เป็นคนชอบเดินทางต่างประเทศบ่อยๆ และเห็นว่าช่างผมต่างประเทศมีเครื่องบินส่วนตัวขับ ก็เริ่มคิดว่าวงการช่างผมหรือ Hair Salon Industry เป็นอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ทำอะไรได้เยอะ และคิดว่าทำไมเราไม่มาพัฒนาวงการช่างผมในบ้านเรา และไม่อยากให้ใครมาดูถูกวงการช่างผม อยากทำให้ภาพลักษณ์ของวงการช่างผมดีขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เราต้องเริ่มจากการพัฒนาตัวเองให้ดีก่อน
ซึ่งในด้านชื่อเสียงเราก็พัฒนามาในระดับหนึ่งแล้ว ก็เลยอยากพัฒนาเรื่องวิชาการ เรื่องการศึกษา เพราะตอนนั้นจบวิทยาลัยครู ซึ่งได้วุฒิแค่ ปกส. ไม่ได้จบปริญญา ก็พอดีมีอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงแนะนำว่าเราบริหารร้านเก่ง น่าจะเรียนเพิ่มโดยนำทฤษฎีมาต่อยอด ผมก็เลยไปเริ่มเรียนปริญญาตรีตอนอายุ 40 ปี จาก 40 จนกระทั่งอายุ 53 ปี ก็เรียนจบปริญญาเอก ซึ่งก็เน้นเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจช่างทำผม โดยผมจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง จบปริญญาโท เศรษฐศาสตร์การเมือง ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วกลับมาจบปริญญาเอกที่รามคำแหง สาขาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งที่เลือกสาขานี้เพราะชอบเรื่องการพัฒนาคน โดยเลือกทำดุษฎีนิพนธ์เรื่องการพัฒนามาตรฐานอาชีพช่างเสริมสวยไทย ซึ่งการที่เราเลือกเรียนด้านนี้เพื่อนำไปพัฒนาวงการช่างผมไทย
ปัญหาที่พบบ่อยมากที่สุด และใช้วิธีการอะไรจึงผ่านมาได้
ปัญหาแรกๆ ที่เจอในร้านคือเรื่องการบริการ ปัญหาเรื่องคน เรื่องการสื่อสารของคนที่มักมีปัญหา เราทำอาชีพด้านบริการ อย่างแรกที่สำคัญ คือ First Impression ที่รวมถึงการแต่งตัว การพูด และความสะอาด ซึ่งเราก็จะมาพัฒนาคนของเราทั้งด้านภายนอก และพัฒนาด้านจิตใจ โดยผมจะใช้หลัก “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งนอกจากเราจะพัฒนาคนแล้ว ยังต้องพัฒนาลูกค้าด้วย ซึ่งสมัยก่อนลูกค้าจะดูถูกช่างทำผม เช่น การนัดช่างทำผมล่วงหน้า ซึ่งคนไทยไม่เคยทำแบบนี้ ซึ่งร้านชลาชลเป็นร้านแรกๆ ที่เริ่มทำเรื่องนี้
เคยมีความรู้สึกท้อบ้างไหม
เคยรู้สึกท้อบ้าง แต่พอรู้สึกเหนื่อยก็จะพัก ชีวิตก็เหมือนกับการขึ้นบันได ซึ่งชีวิตของผมไม่เคยตกต่ำเลยนะ หลายคนก็ถามว่าทำได้อย่างไร ซึ่งผมมองว่าชีวิตของเรานั้นเราออกแบบได้ และเหมือนกับการขึ้นบันได ถ้าเหนื่อยก็หยุดพัก และอย่ามีความคิดอยากจะรวย อยากมี อยากชนะ ให้มากเกินไป ต้องดูองค์ประกอบในตัวเราหลายๆ อย่างด้วย
มีวิธีจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองอย่างไร
การจัดการกับความรู้สึกสำคัญมากที่สุด ผมจะให้หลักของอาจารย์ประเวศ วะสี ที่ระบุว่า คนเราจะต้องมีกฎกติกามารยาท เหมือนกับศาสนาพุทธที่มีเรื่องของศีล 5 ซึ่งเมื่อเรายึดและปฏิบัติตามได้ก็จะเกิดความสงบ อย่างในวงการทำผมก็จะมีเรื่องการพูดส่อเสียด นินทา กันเยอะ ก็จะต้องละเลิกเรื่องแบบนี้ ซึ่งทำให้เราสงบและมีสติ และเกิดปัญญา
รางวัลที่ภาคภูมิใจมากที่สุดในชีวิต
“คือถ้วยจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เป็นถ้วยใบสุดท้าย ที่ท่านประทานให้ตอนเป็นแชมป์ประเทศไทย รู้สึกจะปี 2525 ที่ภูมิใจไม่ใช่เพราะรับถ้วยใบนี้ แต่ เป็นเพราะว่าจำได้มั๊ยที่เล่าให้ฟังว่า พี่เคยถูกตัดแม่ตัดลูก แต่ถ้วยใบนี้ทำให้แม่พี่ยอมรับและกลับมาดีกัน จนเค้าก็อยู่กับเราจนเสียชีวิต ซึ่งท่านก็ชื่นชมเรา อันนี้ถือเป็นรางวัลที่ภูมิใจมาก มีคุณค่าต่อจิตใจมาก แม่พี่ยอมรับไม่ว่าเราจะเป็นเพศอะไร ทำอะไร ทุกวันนี้ทุกคนก็รู้ว่าเราเป็นอะไร แต่ก็ไม่มีใครมาจิกหัวเราว่าเป็นอีสมศักดิ์หรืออะไร ฝากถึงน้องๆ ไม่ว่าเราจะเป็นอะไร สิ่งสำคัญคือแค่เราเป็นคนดี เราทำให้สังคมยอมรับเราได้แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว
จากนั้นก็ได้รางวัลอีกมายที่ภูมิใจ ทั้งแชมป์เอเชีย อันดับ 7 ของโลก ที่จัดขึ้นที่ประเทศอิตาลี่ และอีกรางวัลที่ภูมิใจมาก HAIR HERO OF APAC ( แฮร์ฮีโร่ออฟเอเป็ก) ได้มาจาก Schwarzkopf จัดงานครบรอบ 101 ปี ที่กรุงเบอร์ลิน ที่มีการสรรหาช่างผมทั่วโลก ทั้งหมด 5 ทวีป แต่เอเชียแปซิฟิก เป็นสมศักดิ์ ชลาชล เราภูมิใจมาก อันนี้ก็ติดตัวมาตลอด แต่คนไทยไม่รู้ (หัวเราะ)
อีกรางวัล Lifetime Achievement เป็นรางวัลที่คนไทยยังไม่รู้จัก คุณรู้มั๊ย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร. 9 ได้รางวัลนี้ จากยูเนสโก้ ในเรื่องเป็นองค์ที่พัฒนามนุษย์ คำว่า ไลฟ์ทาม พูดแล้วขนลุกไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เป็นคำที่คนนั้นต้องทำเพื่อสังคมทั้งชีวิต ซึ่งทั่วโลกมองเห็นถึงจะได้รางวัลนี้ พี่ก็ได้จากหนังสือแฮร์เวิล์ด มอบรางวัลนี้ ต้องขอบคุณแฮร์เวิลืดด้วย ที่มอบรางวัลสำคัญนี้ให้ นั่นหมายความว่าเค้าเห็นถึงคุณค่าและความทุ่มเทของเรา
บทบาทและหน้าที่ ในปัจจุบัน
ตอนนี้พี่ได้ช่วยเหลืองานราชการในการสนับสนุนพัฒนา ให้เกิดความเป็นมาตรฐาน ลงลึกมาก เราทำงานกับสมาคมกับอะไรมาหลายอย่างแล้ว แต่ยังไม่ก้าวหน้าไปไหน พอเรามาเรียนหนังสือ เรามาทำทีสีสเกี่ยวกับการพัฒนา
แสตนดาร์ด ซึ่งเป็นตัวชี้วัดฝีมือ ไม่ใช่คำพูด ไม่ใช่คำชม แต่เป็นกติกาของสังคม ของโลก เหมือนเวลาไปขับรถทุกคนขับรถได้หมดแต่ไปสอบทำไมตก เพราะไม่ได้มารตฐาน ทำไมพี่ถึงทำวิทยานิพนธ์เรื่องมาตรฐานช่างเสริมสวย สมัยก่อนมาตรฐานช่างเสริมสวยมีอยู่ 6 แผ่น เขียนโดยนักวิชาการ ที่ไม่ใช่ช่างทำผม มันจะเป็นไปได้ยังไง ซึ่งพี่ได้คิดถึงปัญหาตรงนี้ จึงอยากสร้างมาตรฐานใหม่ ทีสิสของพี่เกือบ 300 หน้า เมื่อเสร็จพี่ได้นำทีสิตนี้ไปให้กับอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งตอนนั้นเป็น “คุณนคร ศิลปะอาชา” ท่านก็มีไอเดียคล้ายกันว่าอยากพัฒนาอาชีพ ท่านก็สั่งให้ปรับมาตรฐานอาชีพนี้ พร้อมกับแต่งตั้งให้พี่เป็นประธานอยู่ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ตอนนี้ออกเป็นราชกิจจานุเบกษา แล้วว่าทุกคนจะต้องสอบ และอีกบทบาทคือเป็นประธานพัฒนามาตรฐานอาชีพช่างเสริมสวยชายและหญิง ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพด้วย ซึ่งต่อไปช่างทำผมจะต้องสอบ ทำเพื่ออะไรคุณสังเกตช่างผมนี่สมองไหลไปเลย หรือเก่งในประเทศแต่ไปประเทศอื่น เป็น เซกันด์ พีเพิ่ล เหมือนคนพม่า เขมรที่มาทำงานบ้านเราไม่มีมาตรฐาน ก็ทำมางานแรงงาน แต่พอเรามีการสอบ มีไลเซ่น ก็จะมีมาตรฐานไปประกอบอาชีพได้ นี่คือสิ่งที่พี่อยากให้เกิดขึ้นในอนาคต ถ้าชีวิตไม่จบเสียก่อน พี่อยากเห็นอาชีพนี้ มีไลเซ่น ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เราจะต้องเข้าไปคุยกับหลายหน่วยงานมาก เพื่อให้แต่ละสถาบันมีหลักสูตรเดียวกัน และเด็กจบมาจะต้องมีมาตรฐานเดียวกัน
เพราะเหตุใดชลาชลจึงประสบความสำเร็จถึงทุกวันนี้
พี่ไม่เคยพูดกับใครว่าสำเร็จ เพราะถ้าเราบอกว่าสำเร็จคือจบ เราก็ทำงานของเราไปเรื่อยๆ ชลาชล เราเกิดจาก การ Learning by doing เราเรียนจากการกระทำ ตัวพี่เอง ทำงานตลอด ไม่เคยนั่งเทียนทำ นั่งเทียนเขียน นั่งเทียนพูด มาจากสิ่งที่ทำจริงๆ แล้วมันตกตะกอน อย่างพี่บอกสินค้าพี่เป็น อีโมชั่นนอล โปรดักส์ สินค้าเราคือช่างทำผม เราต้องพัฒนาอารมณ์ นี่คือจากการทำงานซ้ำบ่อยๆ แล้วเราก็มีประสบการณ์ พี่เชื่อว่าชลาชล ก็ยังอยู่ต่อไป พี่ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ตอนนี้พี่วางระบบให้ชลาชลทำงานได้ ถ้าเรามองว่าเราเก่ง เราทำอยู่คนเดียว แล้วถ้าเราตายไป จะอยู่อย่างไร ร้านทำผมส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้ เราจะอยู่ย่าง Vidal Sassoon ต่อให้เจ้าของตายไปเค้าก็ยังอยู่ได้ หลักการของชลาชลเป็นแบบนี้
ทราบมาว่า ชลาชลเป็นซาลอนเจ้าแรกที่ไอคอนสยาม
สำหรับไอคอนสยาม มันเป็นวิสัยทัศน์ของพี่จริงๆ เพราะว่า ช่วงที่ผ่านมา หลายคนคิดว่าทำไมชลาชลซึมเศร้าซบเซาสงสัยจะแย่แล้ว ต่างๆนานา แต่มันไม่ใช่เวลาของเรา จนวันหนึ่งโปรเจคไอคอนสยามเกิดขึ้น พี่ก็ได้รับการเชื้อเชิญ ซึ่งเรามองตั้งแต่ปี56 แล้วเค้าก็ไม่เคยบิดพลิ้ว เค้าจะเลือกสินค้าที่เป็นไอคอนของประเทศไทยจริงๆ แน่นอนเราภูมิใจเพราะเราเป็นแบรนด์ไทย แล้วยิ่งไปอยู่ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชลาชลแปลว่าอะไร แปลว่าสายน้ำ พี่จองตั้งแต่วันแรกเลย
ก็เลยคุยกันมาตลอดเวลา จนวันนี้เปิด พี่ภูมิใจมาก และเค้าก็ให้เกียรติเรา ก็มีแบรนด์ไทยที่เปิดอยู่ในนั้น แน่นอนเค้าก็ต้องต้อนรับต่างชาติ ตอนนี้ชลาชลเอง ในเอเชียเรามั่นใจว่า ไม่ว่าจะเป็น สิงค์โปร์ มาเลเซีย พม่า เขมร เวียดนาม อะไรต่างๆนานา รู้จักแบรนด์ ชลาชล ร้านเราในถนน สุขุมวิท ไม่ว่าจะเป็น สยามเซ็นเตอร์ อัมรินทร์พล่าซ่า เทอร์มินอล21 ทองหล่อ
70%เป็นต่างชาติหมด อันนี้เป็นทริคจากการทำงาน ต่างชาตินะ เวลาเราไปอยู่เมืองนอก เค้าคงไม่รู้จัก ติ๋มบาร์เบอร์ แต๋ว ซาลอน แต่เค้าจะรู้ไปที่แบรนด์ พยายามสร้างแบรนด์ แล้วตอนนี้ ในโลกมันมีการเคลื่อนตัวไปทั้งโลก มันย้ายที่อยู่กันทั้งโลก นี้คือตลาดใหม่ที่สวยงาม อันนี่คือองค์ความรู้ที่อยากจะบอกช่างผมไทย อย่าหลงตัวเองพยายามหันมาสร้างแบรนด์กันให้ทุกคนจดจำ
คิดว่าตอนนี้ชลาชลอยู่จุดสูงสุดแล้วหรือยัง
ถ้าพูดถึงตอนนี้นะครับ ชลาชลอย่างที่เรียนให้ทราบ คำว่าสำเร็จกับพี่ไม่มี แต่ว่าพี่ไม่ได้โหยหา กระหาย แต่พี่คิดว่า พี่ยังทำได้อีก ตอนนี้สิ่งที่เราอยากทำคือเรื่อง อะดาเดมี เรื่องการให้การศึกษา ตัวพี่เอง พี่หันมาดูเรื่องอะคาเดมีเยอะ
ตอนนี้พี่กำลังอยากให้เป็นแบบ อย่างที่บอก เป็นVidal Saaoon ในเอเชียให้ได้ มีคนถามแบบว่า ไม่ไปเปิดต่างประเทศหรอ ไม่เอา เปิดซาลอนต่างประเทศ ก็สมองไหล
คุณส่งช่างไปที่นู่นก็ไปมีผัวมีเมียกันอยู่ที่นั่น หายไปเลย ตอนนี้นโยบายพี่ที่ให้ไว้กับองค์กร ถ้าเราจะทำก็คือเราจะไปเปิดให่มีไลเซ่น ไปเปิดโรงเรียน ไปพัฒนาคนพื้นที่ของเค้า ตอนนี้เราสนใจที่กำลังดูเรื่อง อะคาเดมีเป็นหลัก
ฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ทิ่อยากจะดำเนินรอยตาม
ตอนนี้พูดเลยว่าลำบากเหมือนกัน เพราะโซเชียลเน็ตเวิร์กมันทำลายล้างกันแบบ บ้างที Senior junior มันไม่มีแล้ว ก็อย่างที่เล่าให้ฟังว่า บางคนที่คนทำเน็ตเวิร์ก เก่งๆ กราฟิกเก่ง เขียนคอนเทนต์เก่งๆ ก็แย่งลูกค้าไป แล้วบางที่ก็ไม่ยั่งยืน ก็อยากจะฝากว่า ทำอะไรก็ตาม ขอให้เดินสายกลาง ความรู้ต้องมี ประสบการณ์ต้องมีจริง แล้วเอาเทคโนโลยีมาเสริม พี่เองไม่เคยทิ้งเทคโนโลยี และก็ไม่เคยทิ้งเรื่อง วัฒนธรรม ถ้าทำให้ยั่งยื่นได้ ต้องคู่กันไป ไม่ไปทางใดทางหนึ่ง แล้วต้องมีองค์ความรู้ที่ครบ360 องศา คือรอบด้านเลย แล้วคุณจะอยู่แบบยั่งยืน
คิดยังไงกับคำที่หลายๆคนกล่าวว่า คุณสมศักดิ์เป็นตำนานที่ยังมีชีวิตอยู่
ก็ขอบคุณ ทุกคนนะครับทุกคนที่กล่าวว่า เป็นตำนาน เพราะว่าจริงๆ มันก็ดีใจ ปิติมากกว่า แต่ว่าเราก็ยังทำต่อไป เพราะว่าเรารักอาชีพนี้ จำได้มั้ยพี่พูดตั้งแต่คำแรก พี่ไม่รู้จักกับคำว่า passionเริ่มแรก ตอนนี้พี่เนี่ย passion มาทั้งชีวิต เพราะพี่ไม่เคยทำร้าย วงการนี้เลย ชลาชลไม่เคยเอาอะไรมาขายเลย ไม่มีนวดหน้า ไม่มีอะไรเลยที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องผม เราโฟกัสเรื่องผมมาตลอด นั้นแหละ คือ passion และมันก็รอดมาตลอด แล้วก็สัจจะของเรา 40กว่าปี เราก็ยังรักอาชีพนี้ ก็ยังเชื่อหลักการของคนโบราณ ว่า คุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรมr มันจะทำให้เราประสบความสำเร็จ
รางวัลชีวิตยิ่งใหญ่ที่ได้รับไม่ได้มาเพราะแค่ความสามารถเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่ ดร.สมศักดิ์ได้มา คือรางวัลที่ตอบแทนคุณค่าของการเป็นนักพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง เพราะเหตุนี้ท่านจึงเป็นตำนานในสายตาของช่างทำผมทั่วฟ้าเมืองไทย นั่นเอง